นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าแบบจำลองของ ธปท. มองภาพเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 66-71 คาดว่าจะเติบโตได้แค่ราว 3% ซึ่งเป็นระดับศักยภาพของไทยในปัจจุบันที่ลดลงจากในอดีต และยากที่จะกลับไปเติบโตได้สูงถึง 4-5% อย่างเช่นในอดีต 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ
โดยเมื่อมองในภาพรวมเศรษฐกิจไทย แม้จะยังสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องและเริ่มทยอยกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ แต่เป็นการฟื้นตัวในภาพรวม และยังซ่อนความยากลำบากของประชาชนอยู่อีกไม่น้อยที่เดือดร้อนจากรายได้ที่ยังฟื้นกลับมาไม่เต็มที่ ทั้งลูกจ้างนอกภาคเกษตร, ผู้ประกอบอาชีพอิสระ แม้รายได้อาจจะกลับมาใกล้เคียงช่วงก่อนโควิด แต่ยังมี "หลุมรายได้" ที่เกิดจากรายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างที่ควรจะเป็นไปตามกาลเวลา แต่กลับมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าครองชีพสูงขึ้น
ทั้งนี้ ธปท.ประเมินภาพเศรษฐกิจไทยรายไตรมาส ในช่วงที่เหลือของปี 67 ไว้ดังนี้ ไตรมาส 2 คาดเติบโตใกล้เคียง 2% ไตรมาส คาดเติบโตใกล้เคียง 3% และไตรมาส 4 คาดเติบโตใกล้เคียง 4% ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ขยายตัวได้ 1.5% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตได้ดีกว่าที่คาดไว้ ส่วนในปี 68 คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ราว 3%
"การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น และเมื่อมองไปในปีหน้า คาดว่าจะโตได้ถึง 3% ในระดับศักยภาพ" ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุ
ผู้ว่า ธปท.มองว่า การจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้มากกว่านี้ จะต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ปรับโครงสร้างแรงงานให้มีประสิทธิภาพ มีการลงทุนมากขึ้น มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทันสมัย ซึ่งคงไม่ใช่เพียงแค่การใช้มาตรการกระตุ้นแต่เพียงเท่านั้น หากไม่มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือการยกระดับประสิทธิภาพแรงงานอย่างจริงจัง ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยก็จะเติบโตอยู่ได้ในระดับที่ 3% ไม่สามารถเติบโตได้มากกว่านี้ ทั้งนี้มองว่าการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้เป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
"ศักยภาพของเรา ถ้าปล่อยไปแบบนี้ก็จะได้แค่ 3% ถ้าจะให้มากกว่านี้ ต้องปรับโครงสร้าง ไม่ใช่แค่การกระตุ้น เพราะกระตุ้นแล้ว สักพักก็กลับมาเท่าเดิม เรากระตุ้นกันมาเยอะแล้ว ซึ่งมันไม่ได้ยั่งยืน ไม่ได้ยกระดับศักยภาพที่แท้จริง เราต้องยกระดับประสิทธิภาพแรงงาน ซึ่งก็จะนำมาซึ่งการลงทุนทั้งโครงสร้างพื้นฐานของทั้งรัฐและเอกชน ลงทุนด้านเทคโนโลยี เพิ่มคุณภาพแรงงาน ด้าน R&D เหล่านนี้ จะช่วยยกระดับจาก 3% ขึ้นได้" นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
"หากกระตุ้นให้ตาย แต่เทคโนโลยีได้แค่นี้ ศักยภาพการฟื้นตัว ก็ได้แค่ 3%" ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุ
ผู้ว่าฯ ธปท. ยืนยันว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในขณะนี้เหมาะสมกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเสถียรภาพการเงิน แต่ ธปท.ก็ไม่ได้ปิดประตูการปรับลดดอกเบี้ย หาก Outlook มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อ การขยายตัวของเศรษฐกิจ พร้อมมองว่าการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ ไม่ใช่การใช้เครื่องมืออัตราดอกเบี้ยเพียงเครื่องมือเดียว แต่ต้องมีเครื่องมืออื่นเข้ามาช่วยเสริมด้วย เช่น มาตรการการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน
"ไม่ได้มีสูตรตายตัวว่าเงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบแล้วต้องลดดอกเบี้ย ประเทศอื่นๆ ที่มี Targeting Inflation ก็ไม่ได้มีอะไรที่ตายตัวแบบนั้น ถ้าอย่างงั้นก็ไม่ต้องมี กนง. ก็ใช้ AI ตัดสินใจได้แทน" ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว
พร้อมระบุว่า ต้องเข้าใจข้อจำกัดของการใช้นโยบายดอกเบี้ย เพราะดอกเบี้ยถือเป็นเครื่องมือที่ค่อนข้างหยาบ มีผลกระทบมากมาย เป็นเครื่องมือที่ต้องตอบหลายโจทย์ในเครื่องมือเดียว ทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ เสถียรภาพการเงิน เสถียรภาพต่างประเทศ ดังนั้นการพิจารณานโยบายดอกเบี้ย จำเป็นต้องชั่งน้ำหนักและพิจารณาผลจากภาพรวมเป็นสำคัญ
ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการคลัง มีแนวคิดที่จะปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ 1-3% ว่า ขณะนี้ ธปท.ยังอยู่ในขั้นตอนการหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง โดยจะรับข้อเสนอต่างๆ ของกระทรวงการคลังไปพิจารณา
ทั้งนี้ การที่มีกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ ก็เพื่อสำหรับยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคต ดังนั้นการจะปรับกรอบเงินเฟ้อจะต้องชั่งน้ำหนักอย่างรอบด้าน เพราะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน
"หลายประเทศเงินเฟ้อก็ไม่ได้อยู่ในกรอบ ยังไม่เห็นมีประเทศไหนที่ปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ...การจะปรับกรอบ มันค่อนข้างมีผล ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
ส่วนที่มองว่าการตั้งกรอบเงินเฟ้อไว้ต่ำเกินไป จะไม่จูงใจให้มีการผลิต และมีผลให้เศรษฐกิจไม่เติบโตนั้น ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า เงินเฟ้อต่ำส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านอุปทาน มีการอุดหนุนราคาพลังงาน ภาคธุรกิจมีการแข่งขันสูง จึงทำให้การปรับขึ้นราคาสินค้าทำได้ยาก
"ต้องถามกลับว่า เงินเฟ้อที่ต่ำมาจากอะไร กรอบเงินเฟ้อไม่สามารถไปบังคับใครได้ ธปท.ไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์ที่จะบังคับห้ามขึ้นราคาสินค้า" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
อย่างไรก็ดี ยังเชื่อว่าแม้อัตราเงินเฟ้อของไทยจะอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็ไม่กังวลว่าจะนำไปสู่ภาวะเงินฝืด และจากที่ดูสถานการณ์ในประเทศไทย ยังไม่มีสัญญาณที่จะไปสู่จุดนั้น
"การที่เงินฝืด ไม่ได้แปลว่าเงินเฟ้อต่ำอย่างเดียว แต่จะต้องหมายถึง เงินเฟ้อที่ต่ำแบบติดลบอย่างต่อเนื่อง ราคาสินค้าปรับลดลง การบริโภคลดลง แต่ปัจจุบันในประเทศจะเห็นว่าการบริโภคไม่ได้ลดลง ปีก่อนโตถึง 7% และปีนี้ก็คาดว่าจะยังโตต่อเนื่อง โอกาสที่เงินเฟ้อต่ำ และส่งผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจนั้น เรายังไม่เห็นสัญญาณ deflation" ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว
ส่วนกรณีที่ธนาคารโลกมีความกังวลต่อฐานะการคลังของประเทศในระยะยาว ส่วนหนึ่งจากการนำงบประมาณไปใช้กับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า หลังสถานการณ์ระบาดของโควิด ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับเสถียรภาพด้านการคลัง เนื่องจากมีการใช้มาตรการการคลังไปมาก เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของแต่ละประเทศจากผลกระทบการระบาดของโควิด ทั้งนี้ ในส่วนตัวมองว่าเสถียรภาพด้านการคลัง เป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจโดยรวม ดังนั้นการทำให้เสถียรภาพการคลังกลับมาเข้มแข็งจึงเป็นสิ่งสำคัญ และตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยก็ขาดดุลงบประมาณมาต่อเนื่องถึง 20 ปี
ทั้งนี้ หากจะให้จัดลำดับความสำคัญ ก็อยากจะให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ มากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะมองว่าอุปสงค์หรือกำลังซื้อในประเทศยังเติบโตได้ดีอยู่
"ถ้าจะให้เลือก จะให้ลำดับความสำคัญกับการสร้างประสิทธิภาพมากกว่าการกระตุ้น เพราะตอนนี้อุปสงค์ในประเทศยังโอเค กระสุนเรามีจำกัด ต้องใช้ให้ตรงจุด" ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุ