สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อ เดือนมิ.ย.อยู่ที่ 108.50 เพิ่มขึ้น 0.62% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.31% จากเดือน พ.ค.67 โดยอัตราชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 1.54% เนื่องจากการลดลงของอัตราการเปลี่ยนแปลงค่ากระแสไฟฟ้าหลังสิ้นสุดผลกระทบของฐานต่ำในเดือนก่อนหน้า และการสูงขึ้นในอัตราชะลอตัวของผักสด เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก หลังจากสิ้นสุดสภาพอากาศร้อนจัด สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก
ขณะที่ CPI เฉลี่ย 6 เดือน อยู่ที่ 0.0%
ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือน มิ.ย.อยู่ที่ระดับ 104.73 เพิ่มขึ้น 0.36% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.01% จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ Core CPI เฉลี่ย 6 เดือนแรกปีนี้ เพิ่มขึ้น 0.41%
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.48% จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ได้แก่ กลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง (ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว) กลุ่มอาหารสด อาทิ ไข่ไก่ ผลไม้สด และผักสด กลุ่มอาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และกลุ่มเครื่องประกอบอาหาร ขณะที่ยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร มะนาว ปลาทู น้ำมันพืช ไก่ย่าง ส้มเขียวหวาน หัวหอมแดง และกระเทียม เป็นต้น
หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.71% จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง กลุ่มค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล และกลุ่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ ค่ากระแสไฟฟ้า ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างห้องน้ำ ผลิตภัณฑ์ซักผ้า (น้ำยาซักแห้ง) เสื้อยืดบุรุษและสตรี และเสื้อเชิ้ตบุรุษและสตรี เป็นต้น
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค.กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาส 3/67 คาดว่ามีแนวโน้มอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาส 2/67 ปัจจัยที่ยังทำให้อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ ได้แก่ (1) ค่ากระแสไฟฟ้าภาคครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า ตามมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ (2) สภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อภาคการเกษตรมากขึ้น หลังจากสิ้นสุดช่วงอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ปริมาณผลผลิตและราคาสินค้าภาคการเกษตรปรับเข้าสู่ระดับปกติ และ (3) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการค้าส่งและค้าปลีกรายใหญ่ รวมทั้งการค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ ตามสภาวะที่มีการแข่งขันสูง
ส่วนปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ได้แก่ (1) ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศ กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน (2) อัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มอ่อนค่ากว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน และ (3) ความไม่แน่นอนจากผลกระทบของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ อาจทำให้ราคาน้ำมันและค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าปรับตัวสูงขึ้น
"อัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 3 คาดว่ายังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาส 2 ส่วนไตรมาส 4 น่าจะเพิ่มขึ้นเกิน 1% ทุกเดือนแน่นอน เนื่องจากฐานต่ำปีก่อนที่ติดลบทุกเดือน" นายพูนพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 67 อยู่ระหว่าง 0.0-1.0% (ค่ากลาง 0.5%) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง
"ภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบันเป็นไปตามสถานการณ์ สูงในระดับที่เหมาะสม มีเสถยรภาพ พอคาดเดาได้ ทั้งผู้ประกอบการทั้งครัวเรือนวางแผนได้ถูกต้อง ก็ยังเหมาะสมอยู่" นายพูนพงษ์ กล่าว
นายพูนพงษ์ กล่าวอีกว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือน พ.ค.67 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยสูงขึ้น 1.54% (YoY) เร่งตัวขึ้นจากปัจจัยชั่วคราว แต่ยังอยู่ในระดับต่ำอันดับ 23 จาก 126 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (บรูไน สปป.ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย)