นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) โดยรวมเดือน มิ.ย.67 อยู่ที่ระดับ 52.3 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 52.4 ในเดือนก่อนหน้า แต่ยังอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 19 นับตั้งแต่เดือน ธ.ค.65 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับเพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 44.5 จากระดับ 44.1 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 57.5 จากระดับ 57.9
"ช่วง 6 เดือนแรกแตกต่างกันเล็ก ๆ น้อย ๆ ยังไม่ได้สะท้อนอะไร ไม่ได้ลดรวดลงมาทีเดียว" นายพูนพงษ์ กล่าว
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง ได้แก่ (1) สถานการณ์ภายนอกประเทศส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยให้ชะลอตัว (2) ความเข้มงวดของธนาคารในการปล่อยสินเชื่อจากปัญหาภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และ (3) ความกังวลต่อภาระค่าครองชีพและราคาพลังงาน
อย่างไรก็ตาม มาตรการของภาครัฐต่าง ๆ ที่ช่วยส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว ส่งผลดีต่อธุรกิจบริการและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ดัชนียังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่น ขณะที่มีปัจจัยบวกเรื่องเดียวคือมาตรการส่งเสริมการส่งเที่ยวที่ส่งผลดีต่อภาคบริการ
ปัจจัยต่าง ๆ มีสัดส่วนมาจากเรื่องเศรษฐกิจมากสุด 48.17% รองลงมาเป็นมาตรการภาครัฐ 12.38% ตามมาด้วยราคาสินค้าเกษตร 10.53%, สังคมและความมั่นคง 8.28%, ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง 7.08%, เศรษฐกิจโลก 6.07%, การเมือง 4.36%, ภัยพิบัติและโรคระบาด 1.33%
หากจำแนกรายภาค พบว่า กรุงเทพฯ และปริมณฑลปรับตัวลดลงจาก 54.3 มาอยู่ที่ 52.6, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 54.7 มาอยู่ที่ 55.3, ภาคกลางปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 52.5 มาอยู่ที่ 52.9, ภาคเหนือปรับตัวลดลงจาก 50.5 มาอยู่ที่ 49.8 และภาคใต้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 49.1 มาอยู่ที่ 49.6
หากจำแนกรายอาชีพ พบว่า พนักงานของรัฐเพิ่มขึ้นจาก 57.6 มาอยู่ที่ 57.7, ผู้ประกอบการปรับตัวลดลงจาก 54.2 มาอยู่ที่ 53.7, กลุ่มบำนาญปรับตัวลดลงจาก 49.9 มาอยู่ที่ 47.6, เกษตรกรปรับตัวลดลงจาก 52.4 มาอยู่ที่ 52.1, พนักงานเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 51.1 มาอยู่ที่ 51.3, นักศึกษาปรับตัวลดลงจาก 53.0 มาอยู่ที่ 52.5 และรับจ้างอิสระปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 49.0 มาอยู่ที่ 49.2