นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ และอาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศักยภาพในการเติบโตของไทยมีขีดจำกัด การทะลายขีดจำกัดนี้ จำเป็นต้องมีการปฏิรูปและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ทั้งมิติการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และมิติการสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำไปพร้อมกัน
การปฏิรูปและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ก็ยังไม่ใช่หลักประกันเพียงพอที่ทำให้อัตราการขยายทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในระยะยาว สำหรับไทยแล้ว การขจัดการแทรกแซงทางการเมืองด้วยอำนาจนอกวิถีทางประชาธิปไตย จะช่วยลดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจและการลงทุนลงอย่างมาก ความมีเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตย และการปฏิรูปการเมืองให้มีความมั่นคง และตอบสนองต่อผลประโยชน์ประชาชนมีความสำคัญ เสถียรภาพของระบบการเมืองและระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นพื้นฐานต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนในระยะยาว
นายอนุสรณ์ มองว่า อัตราการเศรษฐกิจไทยขยายตัวเกิน 4% นั้นมีความเป็นไปได้ หากปฏิรูปเศรษฐกิจสร้างฐานรายได้ใหม่ได้ตามเป้าหมาย การออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ใหม่บวกการเร่งใช้จ่ายงบลงทุน งบประมาณปี 2567 ให้เบิกจ่ายในระดับ 70-75% จะช่วยขยับการลงทุนเอกชนปีนี้โตแตะ 3.5% ได้จากคาดการณ์ไว้เดิมที่ 3.2%
อย่างไรก็ดี การปรับโครงสร้างลดความเหลื่อมล้ำ พักหนี้ หรือยืดหนี้เอง ก็เพียงบรรเทาปัญหากับดักวิกฤติหนี้สิน เกษตรกรและเอสเอ็มอี ต้องแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการต่าง ๆ หนี้ครัวเรือนเองก็ต้องแก้ไข โดยเพิ่มทักษะอาชีพเพื่อให้เกิดแหล่งรายได้ใหม่ๆ เพิ่มผลิตภาพ เพิ่มรายได้ รัฐก็ต้องเพิ่มสวัสดิการพื้นฐานต่าง ๆ ให้เพียงพอและทั่วถึง เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำ เดินหน้าเปิดเสรีให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น ลดการผูกขาด หรือหากมีการค้าอย่างไม่เป็นธรรมด้วยมาตรการทุ่มตลาดของสินค้าจากจีน ก็ต้องมีมาตรการปกป้องกิจการภายใน ยุทธศาสตร์ของไทยในการเป็นครัวของโลก จำเป็นต้องมีการดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อยกระดับภาคเกษตรกรรมให้มีความเข้มแข็ง
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า มาตรการกึ่งการคลังที่ดำเนินการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME Bank) ธนาคารกรุงไทย ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น พักหนี้ อุดหนุนราคา เพิ่มทุน ค้ำประกันหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ หรือชดเชยรายได้ จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและบรรเทาปัญหาภาระหนี้สินได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจกลายเป็นความเสี่ยงทางการคลังได้ และเป็นภาระผูกพันที่อาจกลายเป็นภาระหนี้สาธารณะในอนาคตได้เช่นกัน
ดังนั้นเราจึงต้องประเมินความเสี่ยงทางการคลังของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ผ่าน 3 ประเด็นดังนี้ คือ
ประเด็นแรก หากใช้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ พักหนี้ให้เกษตรกร และเอสเอ็มอี ตลอดจนสนับสนุนนโยบายแจกเงินดิจิทัล ต้องเพิ่มทุนหรือจัดสรรเงินอุดหนุนให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจหรือไม่ อย่างไร
ประเด็นที่สอง ความเสี่ยงและผลบวกต่อเศรษฐกิจ อันส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้จากการดำเนินการตามนโยบายเป็นอย่างไร
ประเด็นที่สาม หนี้คงค้างของสถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้งที่รัฐบาลค้ำประกัน และไม่ค้ำประกัน ที่แท้จริงมีจำนวนเท่าไร
"ดังนั้นการตั้งเป้าให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เต็มศักยภาพที่ 5-6% เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้เศรษฐกิจมีรายได้สูงขึ้น และต้องสร้างกลไกให้เกิดการกระจายรายได้มายังคนส่วนใหญ่อย่างทั่วถึง คือ ต้องปฏิรูปโครงสร้างการกระจายรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง" นายอนุสรณ์ ระบุ
พร้อมมองว่า การพักหนี้ เจรจาประนอมหนี้ หรือลดดอกเบี้ย เป็นเพียงแค่บรรเทา แต่ไม่ได้แก้ปัญหาในระยะยาว ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ต้องแก้ด้วยการปฏิรูปเศรษฐกิจ มาตรการประชานิยมช่วยได้แค่บรรเทาปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น การดำเนินการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนและเป็นระบบ ต้องมีการยกระดับมาตรฐานกระบวนการให้สินเชื่อ และการปฏิบัติกับลูกหนี้อย่างเป็นธรรม (Responsible Lending) ครอบคลุมตลอดวงจรหนี้ของลูกหนี้ Responsible Lending เกิดขึ้นได้เมื่อมีการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ พร้อมการแข่งขันเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน
นอกจากนี้ การคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามความเสี่ยง (Risk-based Pricing) รวมทั้งยกเลิกกำหนดเพดานดอกเบี้ย จะช่วยให้เกิดการปรับพฤติกรรมวินัยทางการเงินของครัวเรือนให้ดีขึ้น แนวทางเหล่านี้ต้องทำควบคู่กับมาตรการระยะสั้น (พักหนี้ ประนอมหนี้ ลดดอกเบี้ย) ที่จะช่วยบรรเทาวิกฤติหนี้สินครัวเรือนได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว