นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิต อยู่ระหว่างของบกลางจากสำนักงบประมาณราว 7,000 ล้านบาท สำหรับการจ่ายเงินอุดหนุนให้กับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) อีก 35,000 หมื่นคัน ตามมาตรการ EV 3.0 ของรัฐบาล หลังจากที่ได้มีการจ่ายเงินอุดหนุนสำหรับรถ EV ที่เข้าเงื่อนไขในรอบแรกไปแล้วประมาณ 40,000 คัน วงเงิน 7,000 ล้านบาท
"มาตรการ EV 3.0 นั้น คาดว่าจะใช้งบประมาณสำหรับจ่ายเงินอุดหนุนรวมประมาณ 14,000 ล้านบาท โดยรอบแรก กรมฯ จ่ายไปหมดแล้ว 4 หมื่นคัน ประมาณ 7,000 ล้านบาท แต่ยังเหลือตกค้างอีก 3.5 หมื่นคัน ซึ่งได้ส่งเรื่องไปที่สำนักงบประมาณ เพื่อขอใช้งบกลางอีกราว 7,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)" นายเอกนิติ กล่าว
อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ปัจจุบันมีค่ายรถยนต์ที่เข้ามาเซ็นสัญญาเพื่อรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการสนับสนุน EV 3.0 ของรัฐบาล (ปี 2565-2566) แล้ว 23 บริษัท ซึ่งจะได้รับการลดอัตราภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% และได้รับเงินอุดหนุนคันละ 70,000-150,000 บาท ตามขนาดความจุของแบตเตอรี่
โดยจะต้องเริ่มผลิตรถ EV ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2567-2568 ภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องผลิตรถ EV ชดเชยเท่ากับยอดที่นำเข้ามาจำหน่าย โดยหากเริ่มผลิตรถ EV ในไทยปี 67 จะต้องผลิตชดเชย 1 เท่า และหากผลิตรถ EV ในปี 68 จะต้องผลิตชดเชย 1.5 เท่า
อย่างไรก็ดี จากการสอบถามไปยังค่ายรถยนต์ที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยแล้ว คาดว่าปีนี้จะผลิตรถ EV ได้ราว 8-9 หมื่นคัน และเชื่อว่าจะเป็นไปตามแผนที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2573 จะมีการผลิตรถ EV ในประเทศไทย 7.5 แสนคัน
"ขณะนี้พบว่ามีค่ายรถยนต์ที่เตรียมเข้ามาลงทุนในไทยแล้ว คิดเป็นเม็ดเงินราว 40,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรม EV ในไทยให้กลายเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก" นายเอกนิติ กล่าว
นายเอกนิติ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลยังคงเดินหน้าสนับสนุนอุตสาหกรรม EV ต่อเนื่อง ผ่านมาตรการ EV 3.5 ซึ่งปัจจุบันมีค่ายรถยนต์เข้ามาเซ็นสัญญากับกรมฯ เพื่อรับสิทธิประโยชน์แล้ว 8 ราย โดยในส่วนนี้ จะได้รับเงินอุดหนุนราคารถยนต์เช่นเดียวกัน แต่ในระดับที่แตกต่างจากมาตรการ EV 3.0
โดยรถ EV ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ขนาดความจุแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 กิโลวัตต์ จะได้รับเงินอุดหนุน 1 แสนบาท/คันในปีแรก และ 75,000 บาท/คันในปีที่ 2 และ 50,000 บาท/คัน ในปีที่ 3-4 ส่วนรถ EV ที่มีขนาดความจุแบตเตอรี่ต่ำกว่า 50 กิโลวัตต์ จะได้รับเงินอุดหนุน 50,000 บาท/คันในปีแรก และ 35,000 บาท/คันในปีที่ 2 และ 25,000 บาท/คันในปีที่ 3-4 และได้รับสิทธิประโยชน์ลดภาษีนำเข้า CBU ไม่เกิน 40% ในช่วง 2 ปีแรก (67-68) และลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2%
อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ปัจจุบันจะเริ่มเห็นการผลิตรถ EV ในประเทศไทยจากค่ายรถยนต์ที่เข้ามาตรการ EV 3.0 แล้ว ส่วนค่ายรถยนต์ที่เข้ามาตรการ EV 3.5 นั้น จะต้องเริ่มผลิตรถ EV ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2569-2570 ซึ่งมาตรการสนับสนุน EV ของรัฐบาลทั้งหมดจะสิ้นสุดในปี 2570 และจากนั้นจะไม่มีการอุดหนุนหรือลดภาษีให้แต่อย่างใด ดังนั้นจึงมองว่ามาตรการดังกล่าวเป็นแรงกระตุ้นเพื่อให้เกิดฐานการผลิตรถยนต์ EV ในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
ในส่วนรถยนต์สันดาปนั้น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เร่งพิจารณาแนวทางการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า
"เบื้องต้นได้หารือกับค่ายผลิตรถยนต์สันดาปไปบ้างแล้ว หลัก ๆ มีการขอลดอัตราภาษี ซึ่งกรมฯ มีเงื่อนไขว่า การลดภาษีจะต้องนำมาด้วยการสร้างฐานการผลิตในประเทศ การลงทุนที่ต้องคุ้มค่า เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรม และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในอุตสาหกรรมรถยนต์" นายเอกนิติ ระบุ