ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทรงตัวต่ำ จากราคาอาหารสด โดยเฉพาะราคาผักสดที่ปรับลดลง หลังจากสิ้นสุดช่วงอากาศร้อนจัด ค่ากระแสไฟฟ้าที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน รวมถึงราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินซึ่งมีฐานที่สูงในปีก่อน อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 4 จะเร่งตัวขึ้นและเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จากผลของฐานราคาพลังงานทั้งค่ากระแสไฟฟ้า และราคาน้ำมันขายปลีกที่ปรับลดลง
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) มีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำใกล้เคียงกับ 6 เดือนแรกของปีที่ 0.4% ซึ่งเป็นการเติบโตที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก่อนเกิดโควิด-19 (ปี 60-62) ที่ 0.6% สะท้อนถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ที่ปรับลดลงเหลือ 57.5 ในเดือน มิ.ย. จากเดือนก่อนที่ระดับ 57.9
ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนมิ.ย.67 อยู่ที่ 0.62% ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากเดือน พ.ค.ซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.54% จากผลของฐานค่ากระแสไฟฟ้าที่ต่ำในปีก่อนสิ้นสุดลง ประกอบกับราคาอาหารสดปรับลดลง ทั้งราคาเนื้อสัตว์ และผักสด