นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างศึกษาการปรับโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะปรับให้เป็นอัตราเดียว เนื่องจากในปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่ในโลกต่างเก็บภาษียาสูบในอัตราเดียว แต่มีเพียง 7 ประเทศเท่านั้นที่เก็บหลายอัตรา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเทศไทย
อย่างไรก็ดี กรมสรรพสามิตจะต้องหารือกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างละเอียด เพื่อให้มีข้อสรุปที่ชัดเจน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนก.ย.นี้
นายเอกนิติ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่จะใช้พิจารณาปรับโครงสร้างภาษียาสูบ ประกอบด้วย 1.ภาพรวมของตลาดยาสูบโลกที่เริ่มลดลง เนื่องจากมีบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาเป็นสินค้าทดแทน 2.การพิจารณาถึงประโยชน์แท้จริงที่จะตกอยู่กับเกษตรกรผู้ปลูกใบยา 3.รักษาระดับการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตไม่ให้ลดลงไปมากกว่านี้ 4.สร้างความเป็นธรรม และทำให้เป็นมาตรฐานสากล และ 5.ต้องคำนึงถึงภาวะด้านสาธารณสุข ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพและความปลอดภัย
"วันนี้ ต้องทำให้สมดุลทั้ง 5 ด้าน ขอคุยให้ครบก่อนทั้ง stakeholder, สาธารณสุข, ประชาชน, ผู้ประกอบการ ให้เข้าใจสถานการณ์ และรายได้ของผู้ประกอบการ ขอทำให้ balance คาดว่าก่อน ก.ย.นี้ จะพยายามทำให้จบ" นายเอกนิติ ระบุ
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมี 7 ประเทศ ที่จัดเก็บอัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบในหลายอัตรา ได้แก่ ประเทศแอลจีเรีย, อียิปต์, เลบานอน, อุซเบกิสถาน, อินเดีย, จีน และไทย
อย่างไรก็ดี สำหรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบที่ใช้ในปัจจุบัน มี 2 อัตรา คือ การจัดเก็บตามมูลค่า โดยราคาขายปลีกที่ต่ำกว่า 72 บาท จัดเก็บภาษีในอัตรา 25% ของราคาขายปลีกแนะนำ ส่วนราคาขายปลีกที่มากกว่า 72 บาท จัดเก็บภาษีในอัตรา 42% ของราคาขายปลีกแนะนำ ขณะเดียวกัน ยังมีการจัดเก็บภาษีตามปริมาณอีกที่ 1.20 บาทต่อมวน