นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ว่า สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง ได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแหล่งเงินที่จะใช้ในโครงการว่า อาจจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐแล้ว เนื่องจากตามข้อศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พบว่า การดำเนินโครงการของรัฐในอดีตที่ผ่านมา เช่น โครงการคนละครึ่ง จะมียอดผู้ใช้สิทธิ์ไม่เกิน 90%
ดังนั้นในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งรัฐบาลยังยืนยันจะครอบคลุมประชาชน 50 ล้านคนเช่นเดิม แต่กระบวนการในการเตรียมงบประมาณเพื่อรองรับการดำเนินการคงไม่เกิน 90% หรือใช้เงินประมาณราว 4.5 แสนล้าบบาทเท่านั้น ซึ่งสามารถใช้วิธีการบริหารจัดการด้วยวิธีงบประมาณตามปกติได้ แบ่งเป็น การดำเนินการผ่านงบประมาณปี 2567 ที่จะมีการตั้งงบประมาณราว 1.6 แสนล้านบาท ประกอบด้วย งบประมาณเพิ่มเติม 1.22 แสนล้าบาท และงบประมาณจากการบริหารจัดการในส่วนต่าง ๆ อีกราว 4.3 หมื่นล้านบาท และในปีงบประมาณ 2568 จะมีการตั้งงบประมาณ 2.8 แสนกว่าล้านบาท มาจากการตั้งงบประมาณ 1.52 แสนล้านบาท และจากการบริหารจัดการงบประมาณในส่วนอื่น ๆ อีกราว 1.32 แสนล้านบาท ซึ่งสุดท้ายเชื่อว่าจะเพียงพอรองรับการดำเนินการ
ส่วนข้อสรุปว่าจะใช้ยอดเงินเท่าไรนั้น คงต้องรอดูยอดที่ประชาชนมาลงทะเบียนด้วย อาจจะ 48 ล้านคน งบตรงนี้ก็ครอบคลุม ซึ่งตอนนี้วางแผนว่าจะปิดลงทะเบียนก่อนสิ้นเดือน ก.ย. จากนั้นจึงจะสรุปกันอีกครั้ง โดยจะใช้กลไกในการบริหารงบเข้ามาดูว่าจะต้องใช้เงินมากหรือน้อยกว่าที่ตั้งไว้
"เรายังตั้งเป้า 50 ล้านคนเช่นเดิม แต่จากประสบการณ์ในอดีต จะมีประชาชนมาลงทะเบียนไม่เต็มตามเป้าหมาย หลัก ๆ ไม่เกิน 90% สำนักงบประมาณ และคลัง จึงมีข้อเสนอให้ใช้กระบวนการในการบริหารงบประมาณแทน ในวงเงิน 4.5 แสนล้านบาท ซึ่งท้ายที่สุด หากต้องใช้เงินในโครงการน้อยกว่าที่ตั้งไว้ ก็นำเงินส่วนที่เหลือไปใช้ในโครงการอื่นที่เป็นการพัฒนา หรือปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศได้ แต่หากจำเป็นต้องใช้เงินมากกว่าที่ตั้งไว้ ก็จะใช้วิธีการบริหารจัดการงบเอาเงินมาเติม" รมช.คลัง กล่าว
พร้อมยืนยันว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะดำเนินการได้แน่นอน ส่วนจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่นั้น นายจุลพันธ์ ย้ำว่า รายละเอียดต่าง ๆ ยังเป็นเพียงข้อเสนอ ซึ่งจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 15 ก.ค. นี้ ซึ่งท้ายที่สุดจะมีข้อสรุป หรือข้อคิดเห็นอย่างไรคงขึ้นอยู่กับมติที่ประชุม และจะมีการแถลงรายละเอียดเรื่องวันลงทะเบียน วิธีการ และช่องทางต่าง ๆ ในวันที่ 24 ก.ค. 67
"ที่ยังไม่ได้สรุปในวันนี้ เพราะอำนาจการตัดสินใจทั้งหมด อยู่ที่คณะกรรมการดิจิทัลชุดใหญ่ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ส่วนข้อสังเกตเรื่องการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโครงการนั้น มองว่าไม่มีใครคิดโครงการวันแรกแล้วออกเลย การดำเนินการไม่ได้สวยหรูเหมือนฝัน เมื่อปฏิบัติจริง ก็ต้องเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม เป็นความจำเป็นที่จะต้องทำให้ถูกต้องทั้งหมดด้วย" นายจุลพันธ์ กล่าว
ส่วนการใช้เงิน ธ.ก.ส. ตามมาตรา 28 ซึ่งตามข้อเสนอระบุว่า อาจจะไม่มีความจำเป็นแล้วนั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีข้อห่วงใยจากหลายฝ่ายในส่วนนี้ แต่ก็อยากยืนยันว่าหากต้องดำเนินการจริง ก็ไม่มีปัญหาอะไร พร้อมทั้งยืนยันว่าเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะถึงมือประชาชนภายในสิ้นปีนี้อย่างแน่นอน พร้อมยืนยันว่าข้อเสนอเรื่องการใช้วิธีการบริหารงบประมาณแทนนั้น อาจจะมีผลกับโครงการลงทุนตามงบลงทุนบ้าง แต่ไม่มีผลกระทบในเรื่องเกณฑ์ตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง
ทั้งนี้ ในส่วนของคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการยังเป็นไปตามเดิม คือ ต้องเป็นผู้มีอายุ 16 ปี กำหนดวันตัดสิทธิ คือ วันที่ 30 ก.ย.67 หรือวันสุดท้ายของการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ เกณฑ์รายได้วัดจากฐานข้อมูลเงินได้ของกรมสรรพากร ณ ปี 2566 ซึ่งสิ้นสุดไปแล้วเมื่อ 31 ธ.ค. 66 กำหนดว่าจะต้องไม่เกิน 8.4 แสนบาท หรือมีเงินเดือนไม่เกิน 7 หมื่นบาท และต้องเป็นผู้มีเงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาท ณ วันที่ 31 มี.ค. 67
* โทรศัพท์มือถือ-เครื่องใช้ไฟฟ้า หมดลุ้น! ร่วมดิจิทัลวอลเล็ต
ส่วนสินค้า Negative List ได้ข้อสรุปแล้วว่า เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์สื่อสาร ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ขณะที่ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการและต้องการนำเงินออก จะต้องมีการผูกเบอร์โทรศัพท์แบบรายเดือนเข้ากับระบบด้วย นอกเหนือจากต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี เพื่อป้องกันหากมีปัญหาจะสามารถตามตัวได้
ส่วนแอปพลิเคชันที่จะใช้นั้น สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA อยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งยืนยันว่าจะเสร็จทันภายในปีนี้แน่นอน
ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง กล่าวว่า ยืนยันว่าวันนี้จะมีเงินเพียงพอรองรับเท่ากับจำนวนประชาชนที่มาลงทะเบียนแน่นอน เพื่อให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ. เงินตรา ส่วนเงื่อนไขในโครงการทั้งหมด ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้เงินมีการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากที่สุด
"เหตุผลที่เราไม่จ่ายเป็นเงินสด เพราะเมื่อเป็นเงินสด คนก็จะเอาไปเก็บในบัญชี จึงไม่มีทางที่เงินสดจะหมุนในระบบเศรษฐกิจ เงื่อนไขที่ออกแบบในโครงการนั้น เพราะรัฐบาลต้องการให้คนเร่งใช้จ่าย ให้เกิด impact เป็นเงื่อนไขที่ออกแบบมาเพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจมากที่สุด และเป็นเงื่อนไขที่ดีที่สุดในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย" นายเผ่าภูมิ กล่าว
นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า วงเงิน 1.3 แสนล้านบาท ที่จะใช้ในปีงบประมาณ 2568 นั้น จะมาจากการบริหารจัดการทางการคลัง และวิธีงบประมาณ ซึ่งมีหลายวิธี เช่น การบริหารงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ ซึ่งจะต้องไปดูใกล้ชิดว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ ถ้าบริหารจัดการแล้ว อาจจะมีส่วนที่ไม่สามารถใช้ได้ทัน ก็ปรับมาใช้ในส่วนนี้ หรือบางรายการที่สามารถโอนเปลี่ยนแปลงมาใส่ในรายการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ซึ่งมั่นใจว่าวงเงินดังกล่าวจะสามารถบริหารจัดการได้แน่นอน และไม่มีผลกระทบกับงบลงทุนให้มีการเปลี่ยนแปลง