ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจประจำปีนี้ลงมาอยู่ที่ 6.2% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง
ธนาคารกลางอินโดนีเซียคาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอินโดนีเซียจะอยู่ที่ระดับ 6.2-6.8% ในปี 2551 เมื่อเทียบกับระดับ 6.32% ในปี 2550
"ธนาคารคาดว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียจะขยายตัวในระดับปานกลางในปีนี้ แม้ว่าอัตราการขยายตัวดังกล่าวจะถูกบดบังจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง และจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น" ธนาคารกลางอินโดนีเซียระบุในรายงานรายไตรมาส
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของ GDP ในปีนี้ลงมาอยู่ที่ระดับ 6.4% จากเดิม 6.8% โดยอ้างถึงภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น
ธนาคารกลางกล่าวว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจอินโดนีเซียส่วนใหญ่ได้รับแรงขับเคลื่อนจากอัตราการบริโภคภาคเอกชน การส่งออก และการลงทุนในโครงการด้านสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้น ส่วนผลกระทบในยามที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งจะฉุดอุปสงค์ความต้องการสินค้าของอินโดนีเซียจากต่างประเทศนั้นจะเกิดขึ้นในวงจำกัด เนื่องจากอินโดนีเซียมีประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลายแห่ง
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติระบุว่า การส่งออกขยายตัวขึ้น 31.4% ในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยยอดการส่งออกน้ำมันและก๊าซพุ่งขึ้น 62%
นอกจากนี้ ราคาอาหารในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจะยังคงสร้างแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อภายในประเทศในช่วงที่เหลือของปีนี้ พร้อมทั้งเสริมว่า ธนาคารคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2551จะพุ่งขึ้นเหนือระดับคาดการณ์ไว้ในเบื้องต้นที่ 4-6%
"อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ด้านค่าเงินรูเปียห์ที่เคลื่อนไหวในระดับที่มีเสถียรภาพจะสามารถช่วยสกัดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อได้บ้าง"
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียจะพุ่งขึ้นแตะระดับตัวเลขสองหลักในปลายปีนี้ หากรัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายการขึ้นราคาเชื้อเพลิงที่รัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนขึ้นถึง 30% ในเดือนหน้า สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย อรษา สงค์พูล/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--