น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) อัพเดตสถานการณ์ตลาดการเงินไทยและการเงินโลกว่า ภาพรวมความเคลื่อนไหวของสกุลเงินในภูมิภาค (ไม่รวมเงินเยน) ตั้งแต่ต้นปีค่าเงินบาทอ่อนค่าไปประมาณ 5.9% ตีคู่มากับเงินวอนของเกาหลีใต้ ที่แข่งกันอ่อนค่ามากสุดในภูมิภาค โดยภาพรวมสกุลเงินทั้งหมดในภูมิภาคอ่อนค่าลงเมื่อเทียบดอลลาร์ แต่สัดส่วนการอ่อนค่านั้นยังเป็นไปตามปัจจัยของแต่ละประเทศด้วย
สำหรับกระแสทุนต่างชาติ มีการไหลออกอย่างต่อเนื่อง โดยปี 66 มีการขายหุ้นไทยไปประมาณเกือบ 2 แสนล้านบาท ส่วนปีนี้ก็ยังมีการขายอย่างต่อเนื่อง เงินไหลออกไปแล้ว 1.17 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ดี มองว่า ค่าเงินบาทจะสามารถฟื้นตัวได้ก่อนสิ้นปีนี้ จากกระแสเงินไหลออกไม่น่าจะรุนแรงมากเท่าครึ่งปีแรกแล้ว นักลงทุนน่าจะมีการลดพอร์ต และหันไปลงทุนในตลาดอื่น ๆ อีกทั้งยังมีปัจจัยสนับสนุนที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดดอกเบี้ย
สำหรับปัจจัยเชิงวัฏจักรที่จะหนุนให้เงินบาทแข็งค่า ได้แก่
1. สัญญาณเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐฯ ชะลอลง ซึ่งเชื่อว่าภาพดังกล่าวจะชัดเจนมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปี เอื้อให้เฟด สามารถลดดอกเบี้ยมากกว่า 1 ครั้งในปีนี้ (คาดลดครั้งแรกในเดือนก.ย. และครั้งที่ 2 ในเดือนธ.ค.) และสอดคล้องกับการคาดหวัง Soft Landing
2. ภาคท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง การสร้างรายได้จากภาคบริการ ช่วยประคองดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย
3. เศรษฐกิจจีนกำลังฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ตลาดคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ช่วยหนุนบรรยากาศการลงทุนในภูมิภาค
ส่วนปัจจัยกดดันเงินบาทอ่อนค่า หรือปัจจัยเชิงโครงสร้าง ได้แก่ 1. ศักยภาพการเติบโตของไทยขาดความโดดเด่น ความสามารถด้านการแข่งขันลดลงในระยะยาว ทำให้กระแสเงินทุนไหลออกสูงกว่าเพื่อนบ้าน และ 2. ความเสี่ยงสงครามการค้าครั้งใหม่จากการเลือกตั้งของสหรัฐฯ
"เศรษฐกิจมีขึ้น มีลง แต่ปัจจัยบาทอ่อนจะเป็นปัจจัยเชิงโครงสร้าง หมายความว่า โลกฟื้นแต่เราฟื้นช้ากว่า อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าไม่ได้ ใน 3-6 เดือนข้างหน้า เงินบาทจะอยู่บนพื้นฐานเรื่องดอกเบี้ยสหรัฐฯ แต่ในระยะยาว ถ้าจะคาดหวังว่าเงินบาทจะเหมือนเมื่อก่อนที่แข็งค่าปีละ 10% หรือแตะ 32 บาท/ดอลลาร์ได้ในเร็ววันนั้น คิดว่าคงไม่ได้เห็นภาพนั้นแล้ว" น.ส.รุ่ง กล่าว
สำหรับมุมมองอัตราแลกเปลี่ยนนั้น อยู่บนสมมติฐานหลักที่ว่า เฟดจะหันมาใช้นโยบายที่เข้มงวดน้อยลง และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลดความร้อนแรงตามวัฏจักร (Soft Landing) อย่างไรก็ดี ปัจจัยลบนอกสหรัฐฯ อาทิ ความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับสถานะการคลังของประเทศแกนหลักในกลุ่มยูโรโซน และอัตราผลตอบแทนที่แท้จริงติดลบอย่างมีนัยสำคัญในญี่ปุ่น อาจส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ได้แรงหนุนต่อไปในระยะสั้น เรามองว่าค่าเงินบาทจะสามารถฟื้นตัวได้ก่อนสิ้นปีนี้ จากการกลับทิศของนโยบายเฟด และแรงส่งจากภาคท่องเที่ยว
"ประมาณการค่าเงินบาทในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จะผันผวนในกรอบ 34.50-36.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ การแข็งค่าของเงินบาท อาจเป็นไปอย่างจำกัด ท่ามกลางศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ขาดความโดดเด่น กระแสเงินทุนไหลออกต่อเนื่อง รวมถึงประเด็นความท้าทายจากทิศทางการค้าโลกในระยะถัดไป" น.ส.รุ่ง ระบุ
น.ส.รุ่ง กล่าวด้วยว่า แม้การกลับมาของนักท่องเที่ยวหลังวิกฤติโรคระบาด จะช่วยพยุงเงินบาทไม่ให้อ่อนค่ารุนแรงกว่าที่เป็นอยู่ รวมถึงทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่ำ แต่หากปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งฉุดรั้งขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ระดับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด จะโน้มต่ำลงในระยะยาว บั่นทอนภูมิคุ้มกันค่าเงินบาทในที่สุด
น.ส.รุ่ง มองว่า สถานะดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย จะเป็นความหวังพื้นฐานสุดท้ายของเงินบาท โดยการกลับมาของนักท่องเที่ยวจะมีส่วนช่วยพยุงเงินบาทไม่ให้อ่อนค่ารุนแรงกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ ไทยเคยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงต่อเนื่องก่อนวิกฤติโควิด-19 โดยการเกินดุลส่งผลให้เงินบาทแข็งค่า (สิ้นปี 62 เงินบาทแข็งค่าขึ้น 18% เทียบกับสิ้นปี 58) แต่สถานการณ์พลิกผันจากโรคระบาด และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้บางปีไทยขาดดุล และเพิ่งพลิกกลับมาเกินดุลได้ในปีที่แล้ว
"ถ้าส่งออกไทยเริ่มมีปัญหา เช่นปีนี้ที่คาดว่าส่งออกจะโตได้เพียง 1.8% ขณะที่ทั่วโลกโตกันมาก หมายความว่า ประเทศที่เคยซื้อของเยอะ ๆ จากเราเขาอาจผลิตเอง หรือไทยอาจขายของที่ไม่สามารถเกาะกระแสความนิยมของโลกได้ หรือตกขบวนขายของที่ทั่วโลกมีความต้องการน้อยลง ทั้งนี้ จากภาพที่เคยเห็นเงินบาทเคยแข็งค่า 18% ภายใน 4 ปี พอจะอนุมานได้ว่าภาพแบบนั้นจะไม่เกิดขึ้นอีก เนื่องจากได้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ดีกระจุก แย่กระจาย เศรษฐกิจโตแค่บางส่วน และความเสี่ยงของโลกที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ" น.ส.รุ่ง กล่าว
ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศสูง หนี้ต่างประเทศต่ำ สะท้อนความแข็งแกร่งอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับระดับก่อนปี 2540 อย่างไรก็ตาม หากปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งฉุดรั้งขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไม่ได้รับการแก้ไข ระดับการเกินดุลอาจโน้มต่ำในระยะยาว บั่นทอนภูมิคุ้มกันค่าเงินบาทในที่สุด
"BAY คาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย อยู่ที่ 6,500 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ธปท. ประมาณการไว้ที่ 13,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเมื่อดูในรายละเอียดมาจากเรื่องการนำเข้า ซึ่ง ธปท. มองว่านำเข้าจะไม่เติบโต ซึ่งถ้าปีนี้ไทยสามารถเกินดุลได้ถึง 13,000 ล้านดอลลาร์ เงินบาทมีโอกาสแตะ 32 บาท/ดอลลาร์ได้ อย่างไรก็ดี มองว่าในระดับ 6,500 ล้านดอลลาร์นี้ เพียงพอที่จะประคองเงินบาทไม่ให้อ่อนค่ามากเกินไป และได้อานิสงส์บ้างจากการที่สหรัฐฯ เข้ารอบการลดดอกเบี้ย ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดเราจะยังยืนอยู่ แต่เรื่องฟันด์โฟลว์ไม่ได้เอากลับเข้ามา ไม่น่าจะมีเงินไหลกลับเข้ามาอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าเฟดลดดอกเบี้ย ก็อาจมีเงินเข้ามาบ้าง" น.ส.รุ่ง กล่าว
ในส่วนของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มองว่า มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยไว้อีกระยะหนึ่ง หากแนวโน้มเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อไม่เปลี่ยน โดยตลาดตีความจุดยืนของ กนง. ว่าส่งสัญญาณคงดอกเบี้ย ดังนี้ เศรษฐกิจเติบโตได้ในเชิงวัฎจักร จากแรงหนุนภาคท่องเที่ยว อีกทั้งการเบิกจ่ายภาครัฐเร่งขึ้นในช่วงที่เหลือของปี สะท้อนความเสี่ยงด้านขาลงคลายตัว, แม้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันที่ 2.50% เหมาะสมแล้ว, ทางการคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับสู่กรอบ 1-3% ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้, ความกังวลเกี่ยวกับหนี้ภาคครัวเรือน (90.8% ของ GDP), การลดภาระดอกเบี้ยสำหรับกลุ่มเปราะบาง ลดความจำเป็นสำหรับการใช้เครื่องมือดอกเบี้ยนโยบายในเวลานี้
"ปัจจัยทั้งหมดนั้น แสดงให้เห็นว่า กนง.แทบจะปิดประตูลดดอกเบี้ย ยกเว้นอย่างเดียว คือ มีช็อกขนาดใหญ่ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ก็อาจลดดอกเบี้ยได้ ทั้งนี้ มองว่าปัจจัยเรื่องค่าเงินบาท มีผลต่อการลดดอกเบี้ยของกนง. ในช่วงที่มีการประชุมกนง. ถ้าเงินบาทอยู่ที่ประมาณ 36-37 บาท/ดอลลาร์ มองว่ามีโอกาสน้อยมากที่ กนง. จะตัดสินใจลดดอกเบี้ย เพราะจะยิ่งทำให้บาทยิ่งอ่อน เงินไหลออก และพอบาทอ่อนราคาสินค้าจะแพงขึ้น กลายเป็นว่าจะต้องกลับไปแก้ปัญหาเงินเฟ้อโดยไม่จำเป็น" น.ส.รุ่ง กล่าว
ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (บอนด์ยิลด์) ในช่วงไตรมาส 1/67 ตลาดมีการคาดการณ์ว่าไทยจะลดดอกเบี้ย 2 รอบ อย่างไรก็ดี จุดเปลี่ยนของตลาดคือในการประชุม กนง. เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่มีแรงกดดันจำนวนมาก แม้ผลโหวตจะไม่เอกฉันท์ แต่ให้เหตุผลในโทนที่ค่อนข้างหนักแน่น และมั่นใจว่าจะคงดอกเบี้ย ทำให้บอนด์ยิลด์ปรับตัวสูงขึ้นหลังการประชุมกนง. ครั้งนั้น และเริ่มแกว่งออกข้าง หรือหมายความว่าหลังจากนี้ไป ตลาดคาดการณ์แล้วว่า ภายในปีนี้กนง. จะคงดอกเบี้ย
"เงินบาทไม่ได้แข็งค่าจากปัจจัยด้วยตัวเอง หรือในประเทศ ส่วนปัจจัยทางการเมือง มีผลค่อนข้างจำกัดต่อเงินบาท ที่ผ่านมาอาจไม่ใช่เรื่องการเมืองโดยตรง แต่เป็นเรื่องการคลัง เช่น ตลาดช็อกในช่วงที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีข่าวว่าจะกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งก็ได้ผ่านจุดนั้นมาแล้ว ส่วนตอนนี้ที่งบดิจิทัลวอลเล็ตจะนำมาจากงบประมาณปี 67-68 ที่ 4.5 แสนล้านบาทนั้น ก็มองว่ายังมีผลต่อเงินบาทค่อนข้างจำกัด เพราะตลาดรับรู้ข่าวไปแล้ว และรับได้เมื่อเทียบกับข่าวตอนแรก ทั้งนี้ การที่เงินบาทจะแข็งค่า หลัก ๆ มาจากปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่กำลังจะลดดอกเบี้ย โดยเงินบาทอิงปัจจัยจากดอลลาร์มากถึง 80%" น.ส.รุ่ง กล่าว