บอร์ดรถไฟฯ เคาะเพิ่มกรอบวงเงินสายสีแดง Missing Link อีก กว่า 400 ลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 12, 2024 08:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีมติเห็นชอบปรับกรอบวงเงินโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (Missing Link) ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กม. เพิ่ม 416.09 ล้านบาท เป็น 44,573.85 ล้านบาท จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติกรอบวงเงินไว้เมื่อปี 2559 ที่ 44,157.76 ล้านบาท

เนื่องจาก มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งสถานีราชวิถี ใกล้กับโรงพยาบาลรามาธิบดี พร้อมทำทางเชื่อมต่อเพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการ รวมถึงการหารือเพื่อตกลงร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่มีเส้นทางในแนวเดียวกันในบางช่วงที่มีพื้นที่จำกัด ในการก่อสร้างให้สอดคล้องกัน

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในฐานะประธานบอร์ด กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ รฟท.จะเสนอกลับไปที่กระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอครม.ในการปรับวงเงินโครงการใหม่

ทั้งนี้ รถไฟสายสีแดง Missing Link มีการปรับวงเงิน ดังนี้ 1.ค่าจ้างที่ปรึกษาประกวดราคา เดิม 20 ล้านบาท ปรับลดลง 880,000 บาท เหลือ 19.12 ล้านบาท เนื่องจากลงนามสัญญาจ้างไว้ที่ 19.12 ล้านบาท

2.ค่าจ้างที่ปรึกษาคุมงาน เดิม 1,059.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 133.22 ล้านบาท เป็น 1,192.43 ล้านบาท เนื่องจากค่างานโยธาและค่างานระบบฯ เพิ่มขึ้น โดยคิดเป็นค่าควบคุมงาน 1,185.83 ล้านบาท และค่าช่วยเวนคืนที่ดิน 6.60 ล้านบาท

3.ค่าจ้างที่ปรึกษาวิศกรอิสระ เดิม 185.12 ล้านบาท ปรับลดลง 104.17 ล้านบาท เหลือ 80.95 ล้านบาท เนื่องจากค่างานระบบฯ ลดลง

4.ค่างานโยธา เดิม 24,189.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,836.7 ล้านบาท เป็น 35,026.59 ล้านบาท เนื่องจากมีการปรับค่าวัสดุ ค่าแรง และค่าอัตราส่วนของต้นทุน และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานก่อสร้าง (Factor F) ให้เป็นปัจจุบัน ปรับแบบให้สอดคล้องกับโครงการที่เกี่ยวข้อง และปรับเพิ่มค่างานรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้าง

5.ค่างานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล เดิม 18,511.62 ล้านบาท ลดลง 10,417.10 ล้านบาท เหลือ 8,094.52 ล้านบาท เนื่องจากตัดค่าตู้รถไฟฟ้า (9,206.28 ล้านบาท) ออก โดยให้เอกชนร่วมลงทุนจัดซื้อแทนตามผลการศึกษาร่วมทุน (PPP) สายสีแดง และผลจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลเยนลดลงเมื่อเทียบกับเงินบาท

6. ค่าเวนคืนที่ดิน เดิม 191.92 ล้านบาท ลดลง 31.68 ล้านบาท เหลือ 160.24 ล้านบาท เนื่องจากโยกค่ารื้อย้ายไปไว้ในค่างานโยธาและคิดค่าเวนคืนใหม่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ 2562

นายจิรุตม์ กล่าวว่า ขณะนี้รถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยาย จำนวน 4 เส้นทาง บอร์ดรฟท.เห็นชอบหมดแล้ว และเข้าสู่ขั้นตอนการนำเสนอครม.เพื่อขออนุมัติต่อไป

*จ่อยกเลิกประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ดรฟท.พิจารณาข้อเสนอผลการประกวดราคา ประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ บริเวณอาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ระยะเวลา 20 ปี โดยคณะอนุกรรมการฝ่ายทรัพย์สิน รฟท.แสดงความเห็น โดยกังวลในเชิงการบริหารจัดการ การเงิน และการลงทุนต่างๆในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงสัดส่วนการถือหุ้น ทุนจดทะเบียน และกระบวนการประมูลที่มีผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว คือกิจการร่วมลงทุน พี จี ดับบลิว อาร์ (PGWR Consortium) จะมีประสิทธิภาพในการทำงานได้จริงหรือไม่ โดยบอร์ดรับฟังความเห็นของอนุฯทรัพย์สิน และสั่งให้นำไปหารือกับคณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมายต่อไป

ส่วนการจะยกเลิกโครงการและประมูลใหม่หรือไม่ ต้องรอข้อมูลจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนก่อน ซึ่งกรณียื่นประมูลรายเดียว ก็เป็นเหตุให้ยกเลิกได้แต่หากไม่ยกเลิกก็ต้องมีเหตุผล ซึ่งคณะกรรมการประกวดราคาจะพิจารณาและเสนอตามขั้นตอน และผู้ว่าฯ รฟท.เป็นผู้มีอำนาจยกเลิกประมูลตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง

กรณีหากมีการยกเลิกประมูล รฟท. ค่อยมาพิจารณาว่าจะเอาอย่างไรต่อไป แต่ยอมรับว่า การเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ อาจจะต้องทบทวนเงื่อนไขใหม่ เพราะอาจจะตั้งมาตรฐานสูงไป ดังนั้นในขณะนี้ รฟท.จะดำเนินการเองไปก่อน

ด้านนายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าฯ รฟท. กล่าวว่า ผลประมูลพัฒนากิจกรรมเชิงพาณิชย์ บริเวณอาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งอนุฯ ฝ่ายทรัพย์สินมีความเห็นเกี่ยวกับความมั่นคงของโครงการ โดยกังวลเรื่องการลงทุนระยะยาวถึง 20 ปี และเอกชนเสนอการลงทุนค่อนข้างสูง และให้ผลตอบแทน รฟท.สูงกว่าราคากลาง จึงมองว่า บางข้อเสนออาจทำไม่ไหว มีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้โครงการไม่สำเร็จตามเป้าหมายได้ เช่น การลงทุนปรับปรุงประมาณ 700 ล้านบาท ซึ่งต้องไปกู้มาดำเนินการ ขณะที่กำหนดทุนจดทะเบียนประมาณ 100 ล้านบาท จะหนักไปหรือไม่ นอกจากนี้ ต้องจ่ายผลตอบแทนและค่าเช่าให้กับรฟท.อีก

ส่วนกรณีที่มีผู้ยื่นข้อเสนอ 1 ราย ตามระเบียบ ต้องยกเลิกยกเว้นมีเหตุผลซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการประกวดราคาฯ พิจารณาในเรื่องข้อเสนอผลประโยชน์ที่รฟท.จะได้รับ อีกทั้งได้สอบถามบริษัทฯเพื่อยืนยันในการลงทุนแล้ว โดยมีการเจรจาได้ข้อยุติเมื่อเดือนก.พ. 67 ที่ผ่านมา จึงเห็นว่าไม่น่ามีปัญหา

อย่างไรก็ตาม บอร์ดรฟท.ให้ หารือกับอนุฯ ด้านกฎหมาย ดูเงื่อนไขต่างๆ ว่าจะเดินหน้าต่อไปหรือไม่ เพื่อสรุปผลและนำเสนอบอร์ดรฟท.พิจารณาอีกครั้งคาดว่าจะเสนอได้ในเดือนส.ค. นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ