ครม.ไฟเขียว "หวยเกษียณ" สร้างแรงจูงใจการออม-ลดภาระงบประมาณ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 16, 2024 12:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ครม.ไฟเขียว

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการส่งเสริมการออมทรัพย์ ของกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อรองรับการเกษียณ ผ่านโครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ (หวยเกษียณ) โดยมอบหมาย กอช. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. กอช. ในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการดำเนินโครงการหวยเกษียณต่อไป คาดเริ่มดำเนินการได้งวดแรกต้นปี 68

"ขั้นตอนต่อไป จะเข้าสู่กระบวนการแก้ไข พ.ร.บ. กอช. โดยจะเร่งให้เร็วที่สุด และจะมารายงานความคืบหน้าเรื่อย ๆ" รมช.คลัง ระบุ

หลักเกณฑ์โครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ (หวยเกษียณ)

1. ผู้ออมสามารถซื้อสลากขูดดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชัน กอช.ใบละ 50 บาท ซื้อได้ไม่เกิน 3,000 บาท/เดือน

2. สามารถซื้อได้ทุกวันตลอด 24 ชม. โดยจะมีการออกรางวัลทุกวันศุกร์ เวลา 17.00 น.

3. รางวัลที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท จำนวน 5 รางวัล และรางวัลที่ 2 จำนวนเงิน 1,000 บาท จำนวน 10,000 รางวัล ผู้ถูกรางวัลจะสามารถถอนเงินรางวัลได้ทันที หากรางวัลออกไม่ครบ จะทบไปงวดต่อไป

4. ไม่ว่าถูกรางวัล หรือไม่ถูกรางวัล เงินที่ซื้อสลากทุกบาท จะถูกเก็บไว้ในบัญชีเงินออมของแต่ละบุคคล ผ่าน กอช. และจะสามารถถอนคืนได้ตอนอายุ 60 ปี เพื่อการออมทรัพย์รองรับการเกษียณ

5. เงินในบัญชีนั้น ยังได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนตลอดระยะเวลาก่อนเกษียณ ผ่าน กอช.

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า โครงการสลากสะสมทรัพย์ฯ (หวยเกษียณ) ในปีแรกใช้งบประมาณ 830 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • เงินรางวัลจำนวน 780 ล้านบาท/ปี
  • การพัฒนาระบบเทคโนโลยี แอปพลิเคชัน ระบบ Clearing และระบบงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 20 ล้านบาท
  • โครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 30 ล้านบาท

และขอรับการสนับสนุนเงินรางวัลจากรัฐบาล งวดละ 15 ล้านบาท รวม 780 ล้านบาท/ปี (คิดเป็น 6% ของเงินซื้อสลากที่สะสมเข้ากองทุนประมาณปีละ 13,000 ล้านบาท) หรือในจำนวนที่มีความเหมาะสมกับปริมาณการออกสลาก และความต้องการของสมาชิกเป้าหมาย

โครงการนี้จะเป็นการขยายโอกาสให้ผู้ประกันตนตามพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 40 และกลุ่มแรงงานนอกระบบมีทางเลือกในการออมแบบสมัครใจเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางการเงินในวัยเกษียณ, ลดภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุกลุ่มเปราะบางที่อาจจะกลายเป็นคนยากจนในวัยเกษียณอายุ และลดภาระทางการคลังในระยะยาวสำหรับการดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งสามารถลดการจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ