นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ ให้ธนาคารออมสิน ดำเนินโครงการให้สินเชื่อตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือประชาชนรายย่อย และโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up (ซึ่งเป็นโครงการที่ธนาคารออมสินดำเนินการเอง โดยไม่ได้ของบประมาณจัดสรรเพิ่มเติม)
1. โครงการให้สินเชื่อตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือประชาชนรายย่อย เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่เดือนเม.ย.67 ประกอบด้วย
1.1 กลุ่มสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำภาคอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 4 มาตรการ แบ่งเป็น สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับกลุ่มลูกค้าที่ประกอบธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์รวม 2 มาตรการ ได้แก่ สินเชื่อ GSB D - Home กระตุ้นเศรษฐกิจ และสินเชื่อ GSB D - Home สร้างบ้านเพื่อคนไทย และสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับกลุ่มประชาชนรายย่อยรวม 2 มาตรการ ได้แก่ สินเชื่อบ้านออมสินเพื่อคนไทย และสินเชื่อ Top Up
1.2 กลุ่มสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อบรรเทาผลกระทบและแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนด้วยการ Refinance สินเชื่อที่มีดอกเบี้ยสูงในตลาด มาใช้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของธนาคารออมสิน ภายใต้โครงการ "สินเชื่อรีไฟแนนซ์เพื่อสังคม" จำนวน 4 มาตรการ แบ่งเป็น สินเชื่อรีไฟแนนซ์สำหรับกลุ่มลูกค้าฐานราก รวม 2 มาตรการ ได้แก่ สินเชื่อรีไฟแนนซ์สินเชื่อผู้ประกอบอาชีพอิสระ (Re-Nano) และสินเชื่อรีไฟแนนซ์สินเชื่อส่วนบุคคล (Re P-loan) และสินเชื่อรีไฟแนนซ์สำหรับกลุ่มลูกค้ารายย่อยบุคคล รวม 2 มาตรการ ได้แก่ สินเชื่อรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต (Re-Card) และสินเชื่อรีไฟแนนซ์สินเชื่อที่อยู่อาศัย (Re-Home)
2. โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ GSB Boost Up โดยธนาคารออมสิน สนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 100,000 ล้านบาท ให้แก่สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้สถาบันการเงินนำไปปล่อยสินเชื่อต่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3.5% ต่อปี ในระยะเวลา 2 ปี วงเงินต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาท รวมทุกสถาบันการเงิน
โดยผู้ประกอบการ SMEs ที่สนใจ สามารถยื่นคำขอสินเชื่อได้ถึงวันที่ 30 ธ.ค.68 ทั้งนี้ ภายใต้วงเงินดังกล่าว ธนาคารออมสินสามารถให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการโดยตรง ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเดียวกับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อรองรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง คาดว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวของธนาคารออมสิน จะสามารถสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ได้ประมาณ 0.27%
อย่างไรก็ดี เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการกำกับดูแล การตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจในการทำหน้าที่เป็นกลไกของรัฐเพื่อฟื้นฟู และช่วยเหลือกลุ่มประชาชนและธุรกิจเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น กระทรวงการคลัง จึงเห็นควรเสนอการแยกบัญชีโครงการให้สินเชื่อดังกล่าวของธนาคารออมสินเป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account: PSA) ซึ่ง ครม. ก็มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ