ครม.ขยายเวลากองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรออกไปอีก 20 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 16, 2024 16:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาการดำเนินงานของกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กองทุนฯ) ออกไปเป็นระยะเวลา 20 ปี (20 ก.ค. 67-19 ก.ค. 87) จากที่จะสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินงานในวันที่ 19 ก.ค. 67

เนื่องจากกองทุนฯ ดังกล่าวยังมีความจำเป็นต้องดำเนินงานต่อไป เนื่องจากเป็นแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำและกลไกของรัฐเพียงแห่งเดียวที่ให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดการค้าเสรีเป็นการเฉพาะ ให้สามารถมีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อนำไปเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งปัจจุบันไทยอยู่ระหว่างเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับหลายประเทศ และอาจมีการเจรจาการค้าเสรีอื่น ๆ เพิ่มเติมในอนาคต

โดยที่ผ่านมากองทุนฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน 20 ปี รวมเป็นเงิน 998 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการต่าง ๆ จำนวน 34 โครงการ 11 ชนิดสินค้า ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าว ชา กาแฟ ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว พริกไทย ผักเมืองหนาว โคเนื้อ โคนม และสุกรรวมทั้งทั้งสิ้น 1,183.25 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินยืม 620.92 ล้านบาท และเงินจ่ายขาด 562.33 ล้านบาท มีเกษตรกรได้รับความช่วยเหลือไม่น้อยกว่า 130,706 ครัวเรือน

สำหรับแหล่งงบประมาณที่จะใช้สำหรับการดำเนินการในระยะต่อไป ประกอบด้วย

1. เงินและทรัพย์สินของกองทุนสะสม โดย ณ วันที่ 29 ก.พ.67 มีจำนวนเงิน 541.059 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินสด 209.897 ล้านบาท สินทรัพย์ 3.022 ล้านบาท และลูกหนี้ 328.740 ล้านบาทซึ่งสามารถใช้หมุนเวียนสำหรับอนุมัติโครงการในช่วงปี 2567-2568 ได้ประมาณ 200 ล้านบาท

2. ในกรณีเงินทุนหมุนเวียนของกองทุนฯ มีไม่เพียงพอจะเสนอของบฯ ประจำปี โดยคาดว่าจะเสนอของบฯ เป็นเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2568-2577 เฉลี่ยปีละ 208 ล้านบาท

โดยกองทุนฯ ดังกล่าวจะไม่ซ้ำซ้อนกับกองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าของกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เนื่องจากกองทุนของกระทรวงเกษตรฯ มุ่งให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรที่ทำการผลิตวัตถุดิบขั้นต้น

ขณะที่กองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของกระทรวงพาณิชย์ มุ่งให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ SMEs ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความซ้ำซ้อนระหว่าง 2 กองทุน อาจมีการกำหนดเงื่อนไข เช่น

  • กองทุนทั้ง 2 กองทุนอาจมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเกี่ยวกับโครงการที่เคยให้ความช่วยเหลือที่ผ่านมา
  • ผู้ขอรับความช่วยเหลือในการผลิตสินค้าเกษตรอาจสามารถเลือกที่จะขอรับความช่วยเหลือได้จากทั้งกองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของกระทรวงพาณิชย์หรือกองทุนฯ ของกระทรวงเกษตรฯ แต่จะสามารถได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนใดกองทุนหนึ่งเท่านั้น เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ