นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้บมจ. ปตท. (PTT) สามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลน บริเวณแม่น้ำบางปะกง ตำบลบางปะกง และตำบลท่าสะอ้าน อำเภอบางปะกง พื้นที่ประมาณ 3-0-75 ไร่ สำหรับดำเนินโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกจากบางปะกงไปโรงไฟฟ้าพระนครใต้ได้ ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ
ทั้งนี้ ปตท. เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการฯ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของโครงข่ายระบบท่อก๊าซธรรมชาติบนบกให้สามารถรองรับความต้องการก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าในเขตนครหลวง ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ซึ่งการดำเนินการจะเป็นไปในลักษณะของการวางท่อใต้แนวสายไฟฟ้าแรงสูง ขนาดท่อ 36 นิ้ว ตั้งแต่สถานีควบคุมความดันก๊าซธรรมชาติ BP4 ในพื้นที่ตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ไปจนถึงโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ในพื้นที่ตำบลบางโปรง อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ รวมระยะทางประมาณ 57 กิโลเมตร ภายใต้กรอบวงเงินลงทุนรวม 13,590 ล้านบาท โดยมีกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จภายในปี 2568
จากการสำรวจพื้นที่ป่าพบว่า การวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติของโครงการฯ ผ่านพื้นที่ป่าชายเลนตามมติ ครม. โดยตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำบางปะกง ในพื้นที่ตำบลบางปะกงและตำบลท่าสะอ้าน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ขนาดพื้นที่ 3-0-75 ไร่ (5,000 ตารางเมตร) ซึ่งยังคงมีสภาพเป็นป่าชายเลนและมีพันธุ์ไม้ป่าชายเลนขึ้นอยู่ โดยป่าชายเลนดังกล่าวเป็นป่าชายเลนที่มีสิทธิ์ครอบครองที่ดินโดยเอกชน ระยะทางประมาณ 652 เมตร และเป็นพื้นที่ป่าชายเลนไม่มีเอกสารสิทธิ์ครอบครองที่ดิน ระยะทางประมาณ 85 เมตร
ดังนั้น ปตท. จึงต้องขอยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี 4 ฉบับ ที่ห้ามใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนต่อคณะรัฐมนตรี จำนวน 3-0-75 ไร่ และต้องขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอน ทั้งนี้ ปตท. ได้ดำเนินการขออนุญาตจากคณะกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงบประมาณ (สงป.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาแล้วไม่มีข้อขัดข้อง/เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงาน เสนอ และมีความเห็นเพิ่มเติม ซึ่งกระทรวงพลังงานควรรับไปดำเนินการ เช่น หากมีการก่อสร้างวางระบบท่อก๊าซธรรมชาติ หรือสิ่งก่อสร้างก่อสร้างวางระบบท่อก๊าซธรรมชาติหรือสิ่งก่อสร้างอื่นใด ในเขตทางหลวงให้ดำเนินการขออนุญาตต่อกรมทางหลวงตามขั้นตอน และให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโดยเคร่งครัด ทั้งนี้ในส่วนค่าใช้จ่ายในการปลูกและบำรุงรักษาป่าชายเลนทดแทนไม่น้อยกว่า 20 เท่า ของพื้นที่ป่าชายเลนที่ได้รับอนุญาตสำนักงบประมาณ เห็นควรให้ ปตท. พิจารณาใช้จ่ายจากเงินรายได้