นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะทำงานดำเนินโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย สำหรับบริหารจัดการแหล่งน้ำและซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก(PM 2.5) ปี 2565-2567 เมื่อวันที่ 4 ก.ค.67 ได้มีการหารือถึงการขยายอายุโครงการฯ ที่กำลังจะหมดอายุในเดือน ก.ย.67 ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย เพิ่มสภาพคล่องทางด้านการเงิน ทั้งด้านการการผลิตอ้อย ส่งเสริมการตัดอ้อยสด ลดปัญหาอ้อยไฟไหม้และ PM 2.5 การมีแหล่งน้ำสำรองเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเมื่อเกิดภัยแล้ง ส่งเสริมการนำเครื่องจักรกลมาใช้ในไร่อ้อยแบบครบวงจร ทดแทนการขาดแคลนแรงงานคน รวมไปถึงการรองรับนโยบาย BCG Economy
ที่ประชุมฯ จึงเตรียมเสนอขอขยายโครงการอีกเป็นปี 2568-2570 มีกรอบวงเงินปีละ 2,000 ล้านบาท รวม 3 ปี เป็นเงิน 6,000 ล้านบาท กรณีใช้วงเงินในแต่ละปีไม่หมดสามารถนำไปทบใช้ในปีถัดไปได้ อัตราดอกเบี้ย MRR 6.975% ส่วนที่รัฐชดเชยดอกเบี้ย 3% ยังต้องหารือในที่ประชุมต่อไป
อย่างไรก็ตามจะพยายามให้ชาวไร่รับภาระ 2% เท่าเดิม สำหรับโครงการฯ ปี 2565-2567 มีวงเงินกู้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปีละ 2,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MRR 6.975% ชาวไร่จ่ายดอกเบี้ย 2% รัฐบาลชดเชย 3% และ ธ.ก.ส. รับภาระส่วนที่เหลือ 1.975% ปัจจุบันปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 706 ราย วงเงิน 2,335.53 ล้านบาท
"คณะทำงานฯ จะพิจารณาโครงการนี้อีกครั้งในเดือนสิงหาคม 2567 หากโครงการได้รับการอนุมัติแล้ว สอน.จะชงเรื่องเข้า ครม.ต่อไป เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการได้ต่อเนื่องจากที่จะหมดในเดือนกันยายนนี้" นายวิฤทธิ์ กล่าว