กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ผนึกกำลัง สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้วยการติดปีกเกษตรกรด้วยเกษตรอุตสาหกรรม ผ่านเครือข่ายความร่วมมือ (DIPROM CONNECTION) ด้วยการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพการแปรรูป เพิ่มผลิตภาพให้กับพืชเศรษฐกิจและผลไม้ พร้อมยกระดับสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีและองค์ความรู้
นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในระยะแรกจะเน้นโกโก้ ไผ่ สมุนไพร และชีวมวล ส่วนในอนาคตจะเป็นพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ด้วยการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมให้กับเครือข่ายเกษตรกร และผู้แปรรูปสินค้าจากภาคการเกษตร พร้อมการเพิ่มผลิตภาพให้กับพืชเศรษฐกิจและผลไม้ และยกระดับสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีและองค์ความรู้ รวมถึงบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ อีกทั้งส่งเสริมการนำวัสดุเหลือทิ้งจากภาคการเกษตรมาใช้เป็นพลังงานทดแทน เพื่อเข้าสู่การใช้พลังงานสะอาดและความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมทั้งการให้ความรู้ในด้านการจัดทำคาร์บอนเครดิต เพื่อขายคาร์บอนเครดิตสร้างรายได้เพิ่มให้กับกลุ่มเกษตรกร หวังยกระดับรายได้ให้กับชุมชนเกษตรกรทั่วประเทศได้มากกว่า 8 พันล้านบาท
นอกจากนี้ กรมฯ ยังเข้าไปร่วมบริหารจัดการกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรในด้านการแปรรูปสินค้า ตั้งแต่การบริหารจัดการด้านวัตถุดิบ เทคโนโลยีการผลิต การควบคุมคุณภาพ การตรวจวัดมาตรฐาน ไปจนถึงการจัดหาตลาดทั้งในประเทศ ต่างประเทศ ผ่านระบบออนไลน์ และออฟไลน์ผ่านเครือข่ายพันธมิตรทั่วประเทศ รวมทั้งขยายความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อให้เกษตรอุตสาหกรรมของชุมชน ผลิตสินค้าได้ตรงกับความต้องการ สร้างระบบนิเวศด้านการเกษตรอย่างครบวงจร ซึ่งจะช่วยให้ภาคการเกษตรของไทยเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน อาทิ การนำผู้ประกอบการกลุ่มโก้โก้เข้าร่วมงาน Craft Cocoa Village กับ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าที่รวบรวมผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้จากทั่วประเทศ, Processor ตลอดจนผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์โกโก้ทุกรูปแบบ
นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า การยกระดับชุมชนเกษตรกรให้เป็นเกษตรอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยจะเข้าไปสำรวจความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อให้การพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมตรงกับความต้องการของคนพื้นที่ สอดคล้องกับศักยภาพและจุดเด่นของท้องถิ่น รวมทั้งการสร้างกลุ่มเครือข่ายเกษตรกร เพื่อรวบรวมผลผลิตมาแปรรูป และกระจายรายได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนเกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ และผลิตสินค้าได้ตรงกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ทำให้แผนการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมเดินหน้าไปสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้น