กระทรวงการคลัง เปิดตัวโครงการ "Ignite Finance" ซึ่งเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในวิสัยทัศน์ "Ignite Thailand" ของนายกรัฐมนตรีที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลาง 8 อุตสาหกรรมหลัก โดย "Ignite Finance" มีเป้าหมายเพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการเงินระดับโลก โดยการดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้าสู่ในประเทศ และสร้างเม็ดเงินใหม่ให้ประชาชน พร้อมเตรียมขับเคลื่อน ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาและเปิดสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินให้ประชาชน และธุรกิจรายย่อย
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะผลิกโฉมนโยบายระบบสถาบันการเงิน ด้วยการริเริ่มนโยบายระบบสถาบันการเงินภายในประเทศที่สำคัญ โดยกระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกประกาศกระทรวงการคลัง เพื่อให้มีการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) คาดว่าไม่เกิน 1 ปี ธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) จะเกิดขึ้นในไทย ซึ่งหลักการ คือ จะเป็นธนาคารที่ใช้ข้อมูลทางเลือกในการคิดความเสี่ยงของคน นอกเหนือจากข้อมูลเงินเดือน ข้อมูลเครดิต ข้อมูลหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยข้อมูลทางเลือก คือ ข้อมูลการชำระค่าโทรศัพท์ ข้อมูลพฤติกรรมการใช้จ่าย ข้อมูลการชำระค่าน้ำค่าไฟ ข้อมูลการชำระค่าอินเตอร์เน็ต ข้อมูลการขายสินค้า เป็นต้น ต่าง ๆ เหล่านี้เอามาคำนวณเป็นความเสี่ยงว่าความสามารถในการชำระหนี้เป็นอย่างไร แทนที่สลิปเงินเดือน หลักทรัพย์ค้ำประกัน ข้อมูลเครดิต ซึ่งคนเหล่านี้ไม่มี และเมื่อคำนวณความเสี่ยงมาแล้ว จะทำให้คนตรงกลางที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อจะสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ เป็นการเติมเต็มช่องว่างทางการเงินของประเทศไทย
ขณะเดียวกัน กระทรวงคลังอยู่ระหว่างการจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (National Credit Guarantee Agency : NaCGA) ซึ่งกลไกคือจะเป็นหน่วยงานการันตีเครดิตสำหรับรายย่อย ประชาชนทุกคน และเอสเอ็มอีว่ามีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งจะช่วยทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น
"NaCGA เป็นกระบวนการค้ำประกันสินเชื่อหนึ่ง เป็นบริษัทประกันความเสี่ยงทางการเงินให้ประชาชน ซึ่งจะมีการคิดค่าธรรมเนียมจากหลายส่วน ทั้งจากประชาชนซึ่งจะคิดต่ำมาก รวมถึงจะได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ ซึ่งต้องมาดูในรายละเอียดถึงความเหมาะสม ส่วนหลักการทำงาน คือ NaCGA จะทำหน้าที่เป็นเครดิตการันตีเอเจนซี่ จะอยู่หน้าแบงก์ และการันตีเครดิตตามความเสี่ยงของบุคคลก่อนที่จะขอสินเชื่อ ขณะที่บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) นั้น หลักการ คือ อยู่หลังแบงก์ คนเดินไปหาแบงก์ก่อนแล้วค่อยมา บสย. ดังนั้นคนประเมินความเสี่ยงจึงไม่ใช่ บสย. แต่ใน NaCGA นี้ จะใหญ่กว่า บสย. ซึ่ง บสย.ก็จะต้องพัฒนาตัวเองและเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรนี้ด้วยเช่นกัน โดยตอนนี้กระทรวงการคลังได้เตรียมเสนอเรื่องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเร็ว ๆ นี้ ยืนยันว่าทั้งหมดน่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในปี 2568" นายเผ่าภูมิ กล่าว
รมช.คลัง กล่าวว่า กุญแจสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการเงินโลก หรือ Thailand Financial Center ที่จะเน้นการประกอบธุรกิจหลัก 5 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และธุรกิจประกันภัย ได้แก่
1. กฎหมายที่พร้อมรับอนาคตโดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการยกร่างกฎหมายที่มีความยืดหยุ่น โปร่งใส และเอื้อต่อการประกอบธุรกิจ ภายใต้โครงการ Ignite Thailand ภาครัฐจะผลักดันร่างกฎหมาย ที่จะสร้างกรอบการกำกับดูแลแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อให้กระบวนการทั้งหมดตั้งแต่การขอใบอนุญาต จนถึงการกำกับดูแลมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเพื่อให้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรวดเร็ว และตอบโจทย์ผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อขยายขอบเขต และบทบาทของภาคการเงินของประเทศไทยในเวทีโลก โดยคาดว่ากฎหมายดังกล่าวน่าจะเสนอเข้าสู่สภาฯ ได้ภายในปีนี้ 2. สิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่เพื่อสร้างแรงดึงดูดให้ประเทศไทยเป็นตัวเลือกแรก ที่สถาบันการเงินหรือผู้ให้บริการทางการเงินเลือกที่จะมาตั้งสาขาและประกอบธุรกิจ ด้วยสิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่ ได้แก่ การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว, Work Permit, Non-tax incentives, Tex incentives และโครงการเพิ่มแรงจูงใจอื่น ๆ เช่น เงินสนับสนุน (Grant) 3. ระบบนิเวศน์แห่งอนาคต การสร้าง Ecosystem ใหม่ ผ่านโครงสร้างกฎหมาย Digital Infrastructure, ทรัพยากรบุคคล, Reputation และเสถียรภาพ โดยทั้งหมดนี้คือระบบใหม่ที่รัฐบาลต้องสร้างให้ประเทศไทยเพื่อให้พร้อมสำหรับการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเหล่านี้ และไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงินโลก
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศเพื่อนบ้าน ปรับแก้กฏหมายให้เป็นมิตรต่อการทำธุรกิจ การลงทุน ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมบ้านเขาทำได้ และที่ผ่านมาทำไมนักลงทุนถึงไม่เลือกประเทศไทย ซึ่งการออกไปคุยกับนักลงทุนทำให้เข้าใจดีว่า หัวใจของการสร้างอุตสาหกรรมนี้ คือ การมีกฏหมายที่ชัดเจนสำหรับการดำเนินธุรกิจ และการมี Facility สำหรับคนทำงานที่ดีพอ ซึ่งมั่นใจว่า Facility ต่าง ๆ ในประเทศไทยนั้น World Class ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร โรงพยาบาล โรงเรียน international สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
ขณะเดียวกันการผลักดัน Innovation ใหม่ ๆ ทางระบบการเงิน ไม่ว่าจะเป็น Virtual Bank หรือการค้ำประกันสินเชื่อ จะเป็นการสร้าง Inclusive Innovation ด้านการเงินให้กับคนไทย ทำให้เข้าถึงระบบการเงินได้สะดวกยิ่งขึ้น นำไปสู่การลงทุน การสร้างงาน การสร่งรายได้ และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคนได้ในที่สุด
นายกฯ ย้ำว่าการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน ไม่ใช่สร้างประโยชน์ให้กับธนาคารหรือสถาบันการเงินเพียงอย่างเดียว แต่คือกลยุทธ์ที่ประเทศไทยจะดึงดูดเงินทุน คนที่มีความรู้ความสามารถ ตลอดจนองค์ความรู้ให้เข้ามาอยู่ในประเทศ สร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจของโลกและประเทศไทย โดยถือว่านโยบายนี้เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยที่ไม่ต้องใช้งบประมาณลงทุน และมีผลตอบแทนมหาศาลต่อประเทศ และคุ้มค่าอย่างยิ่งต่อการเดินหน้าเต็มที่