นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ร่วมเดินทางเยือนมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 21-23 ก.ค.67 เพื่อกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่งระหว่างไทย-จีน รวมถึงศึกษาแนวทางการอำนวยความสะดวกในการตรวจคนเข้าเมืองทางรถไฟ ระหว่างลาว-จีน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย
ซึ่งเป็นการเดินทางด้วยรถไฟ ลาว-จีน ขบวนที่ D88 จากสถานีหลวงพระบาง-สถานีรถไฟบ่อเต็น ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็น ตั้งอยู่บนถนน R3A ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญที่เชื่อมต่อระหว่างลาวและจีน อยู่ในแขวงหลวงน้ำทา ทางตอนเหนือของประเทศ สปป.ลาว
โดยสถานีรถไฟบ่อเต็น เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟสายสำคัญ ที่เชื่อมโยงนครหลวงเวียงจันทน์ ของสปป.ลาว กับนครคุนหมิง มณฑลยูนนานของจีน อยู่ห่างจากชายแดนลาว-จีน เพียงประมาณ 8 กิโลเมตร ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการขนส่งสินค้าและการเดินทางของผู้โดยสารระหว่างสองประเทศ
ปัจจุบันโครงการรถไฟลาว-จีน ช่วงสถานีนครหลวงเวียงจันทน์-สถานีบ่อเต็น ระยะทาง 414 กิโลเมตร ได้เชื่อมต่อกับทางรถไฟของสาธารณรัฐประชาชนจีน ช่วงสถานีบ่อเต็น-สถานีคุนหมิงใต้ ระยะทาง 1,022 กิโลเมตร โดยมีทางรถไฟเชื่อมระหว่างสองประเทศในลักษณะโครงสร้างอุโมงค์ เนื่องจากพรมแดนของสองประเทศอยู่ระหว่างสถานีบ่อเต็น (ลาว)-สถานีบ่อหาน (จีน) จึงต้องมีการทำพิธีตรวจคนเข้า-ออกเมืองทั้งสองสถานีดังกล่าว
"การเดินทางเยือนมณฑลยูนนานในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ และความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่งระหว่างไทยและจีน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งระหว่างสองประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับประเทศไทยผ่านทางรถไฟลาว-จีน ซึ่งจะช่วยให้การขนส่งสินค้าและการเดินทางระหว่างไทย ลาว และจีน มีความสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต อันจะเป็นประโยชน์ต่อการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกันต่อไป" รมช.คมนาคม กล่าว
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะเดินทางได้ศึกษากระบวนการตรวจคนเข้าเมืองทางรถไฟที่ด่านบ่อเต็น และด่านบ่อหาน ซึ่งมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการคัดกรองผู้โดยสาร เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งช่วยให้กระบวนการตรวจคนเข้าเมืองมีความรวดเร็ว แม่นยำ และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
โดยกระทรวงคมนาคม จะนำแนวทางและเทคโนโลยีเหล่านี้ มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบตรวจคนเข้าเมืองทางรถไฟระหว่างไทย-สปป.ลาว ต่อไป เพื่อรองรับการเดินทางข้ามพรมแดนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังจากการเปิดใช้ทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างไทย ลาว และจีนอย่างเต็มรูปแบบ