"อนุสรณ์" วิเคราะห์ความท้าทายของไทย สู่การเป็นศูนย์กลางการเงินโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday July 21, 2024 18:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลฯ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินระดับโลก ภายใต้โครงการ Ignite Finance ถือเป็นการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรมบริการการเงิน การลงทุนที่มีมูลค่าสูง ถือเป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจส่วนหนึ่ง ที่จะทำให้ศักยภาพในการเติบโตของไทยสูงขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ควรศึกษาบทเรียนความสำเร็จ และล้มเหลวของนโยบายที่ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเงินของภูมิภาคด้วยการเปิดเสรีทางการเงินช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินปี พ.ศ. 2540 ให้ดีด้วยว่า ทำไมมาตรการ BIBF จึงสะดุด และยังเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการก่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นเกินตัว และธุรกรรมเก็งกำไรเกินขนาดในตลาดหลักทรัพย์ และตลาดอสังหาริมทรัพย์

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า หากเราต้องการให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก อาจต้องมียุทธศาสตร์ และตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน และเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ แต่จะเป็นประโยชน์แน่นอน การตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางทางการเงินระดับโลก เราต้องทำให้อันดับ Global Financial Centers Index ของกรุงเทพฯ มาอยู่ที่ 20 อันดับแรกเป็นอย่างน้อย

ขณะนี้ "กรุงเทพฯ" อยู่อันดับที่ 93 ในปี พ.ศ. 2567 เมื่อ 5 ปีที่แล้ว (ปี 2562) ประเทศไทย เคยอยู่อันดับที่ 50 และดิ่งลงอย่างรวดเร็วจากเงินทุนไหลออก และขาดการพัฒนาระบบต่างๆ ความไม่โปร่งใสของบริษัทจดทะเบียน การฉ้อโกงนักลงทุนของผู้บริหารในตลาดหลักทรัพย์ และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงิน ไม่ดึงดูดต่อการลงทุนและการประกอบกิจการบริการทางการเงินและการธนาคาร สถาบันการเงินระดับโลกบางแห่ง ขายธุรกิจให้กับธนาคารในระดับภูมิภาค

"การเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงินโลกของไทย ต้องแข่งขันกับศูนย์กลางการเงินในภูมิภาคเอเชียให้ได้เสียก่อน สิงคโปร์ เป็นศูนย์กลางทางการเงินอันดับ 3 ของโลก ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางทางการเงินอันดับ 4 ของโลก เซี่ยงไฮ้ และ กรุงโซล อยู่ในอันดับ 6 และ อันดับ 10 ในฐานะศูนย์กลางทางการเงินของโลก หรือในอาเซียน กรุงเทพฯ ต้องเอาชนะกัวลาลัมเปอร์ที่อยู่ในอันดับ 77 ให้ได้เสียก่อน" นายอนุสรณ์ กล่าว

พร้อมระบุว่า การมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก ต้องมาพร้อมกับความเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ จึงทำให้ สถานะความเป็นศูนย์กลางทางการเงินมีความยั่งยืน

ทั้งนี้ ศูนย์กลางทางการเงิน เรามักหมายถึง เมืองหรือประเทศที่สามารถดึงดูดให้สถาบันการเงิน สถาบันการลงทุนจำนวนมาก ทั้งสถาบันระดับภูมิภาคและระดับโลก เข้ามาลงทุนและใช้เป็นศูนย์กลางในการทำธุรกรรมทางการเงิน และการลงทุนระหว่างประเทศ และ หากต้องการเป็นศูนย์กลางการเงินระดับโลกระดับต้น ๆ ควรต้องมีสินทรัพย์ของสถาบันการเงินไม่น้อยกว่า 200% ของจีดีพี

ความท้าทายของไทยในการนำพา "กรุงเทพฯ" สู่ความเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก มีดังต่อไปนี้

ประการแรก สภาพแวดล้อมทางธุรกิจเอื้อต่อการประกอบธุรกิจการเงินและการลงทุนหรือไม่ สะท้อนมาที่ดัชนีความง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) โดยเฉพาะในมุมของนักลงทุน มักให้ความสำคัญอัตราภาษีที่ต่ำ ไม่ซ้ำซ้อน และต้นทุนต่ำ ประเทศไทยอยู่ในระดับที่ดีพอสมควร แต่มีความเสี่ยงเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองไม่ดีนัก มีรัฐประหาร และการเปลี่ยนแปลงการเมืองไม่เป็นไปตามวาระและวิถีทางประชาธิปไตยบ่อยครั้ง

ประการที่สอง ระดับการเปิดเสรีทางการเงิน และการลงทุนอยู่ที่ระดับไหน (Level of Financial and Investment Liberalization) กรุงเทพฯ มีระดับการเปิดเสรีภาคการเงินไม่สูงเท่ากับสิงคโปร์ ฮ่องกง นิวยอร์ก ลอนดอน ซานฟานซิสโก ชิคาโก บอสตัน ลอสแองเจลีส เวียนนา มิลาน ปารีส หรือ หมู่เกาะอย่างเคย์แมน บริติชเวอร์จิน แต่ไทยมีระดับการเปิดเสรีในระดับที่พัฒนาต่อยอดได้

ประการที่สาม ความพร้อมของบุคลากร และโครงสร้างพื้นฐานของภาคการเงิน ประเทศไทยมีความพร้อมในระดับปานกลาง ยังต้องพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงิน และการลงทุนเพิ่มเติมอีกมาก

ประการที่สี่ ความเชื่อมั่นและการยอมรับในการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน เกี่ยวข้องกับวางระบบกฎหมาย การที่กระทรวงการคลังจะมีแผนในการจัดทำกฎหมายทางการเงินใหม่ ก็จะเป็นพื้นฐานสำคัญในอนาคต การวางระบบโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคม ไอทีและเทคโนโลยีสารสนเทศ ถือว่ามีความสำคัญมากในระบบการเงิน และการลงทุนแบบดิจิทัล

ประการที่ห้า ระบบความมั่นคงปลอดภัยในการให้บริการ และระบบความมั่นคงปลอดภับทางไซเบอร์ และธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ

ประการที่หก การกำกับดูแล ความมีธรรมาภิบาลที่เป็นมาตรฐานสากล ความคงเส้นคงวา และคาดการณ์ได้ของนโยบายที่เกี่ยวข้องกับระบบสถาบันการเงิน นโยบายการเงินและนโยบายการลงทุน

นายอนุสรณ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า สำหรับการจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ ของกระทรวงการคลัง คาดว่าจะทำให้ ประชาชนและธุรกิจรายย่อยที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อจากระบบสถาบันการเงินได้โดยตรง สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ดีขึ้น หลังจากมีการค้ำประกันโดยสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ และคาดว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแหล่งทุนได้ดีขึ้น ขณะเดียวกัน กฎหมายธุรกิจการเงินใหม่ สิทธิประโยชน์ใหม่ ระบบนิเวศทางการเงินใหม่ ที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นโดยกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องแข่งขันและดึงดูดสถาบันการเงินและนักลงทุนจากทั่วโลกได้จริง จึงจะทำให้ประสบความสำเร็จ

เนื่องจากศูนย์กลางทางการเงินของโลกในอันดับต้นๆ มีความพร้อม และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาสถานะความเป็นศูนย์กลางให้คงอยู่ต่อไป นอกจากนี้ ต้องให้ความสนใจว่า ผลประโยชน์จากการพัฒนาสู่ความเป็นศูนย์กลางทางการเงินของไทยได้กระจายมายังประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศหรือไม่ อย่างไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ