รมว.อุตฯศึกษาดูงานรง.รีไซเคิลรถยนต์ที่ญี่ปุ่นพร้อมถกร่วมมือ JETRO ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน-อุตฯสีเขียว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 22, 2024 17:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รมว.อุตฯศึกษาดูงานรง.รีไซเคิลรถยนต์ที่ญี่ปุ่นพร้อมถกร่วมมือ  JETRO ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน-อุตฯสีเขียว

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเข้าเยี่ยมชมโรงงานรีไซเคิลรถยนต์ "Eco R Japan" จังหวัดโทจิหงิ ภูมิภาคคันโตะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อศึกษาและสนับสนุนการดำเนินมาตรการ ELV (End of Life Vehicle) ว่า การศึกษาดูงานในครั้งนี้ เพื่อเป็นการผลักดันประเทศไทยสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยมาตรการ ELV มุ่งเน้นลดปริมาณของเสียจากยานยนต์ การบำบัดซากยานยนต์อย่างถูกวิธี และการนำชิ้นส่วนวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรีไซเคิลและการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่

รมว.อุตฯศึกษาดูงานรง.รีไซเคิลรถยนต์ที่ญี่ปุ่นพร้อมถกร่วมมือ  JETRO ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน-อุตฯสีเขียว

ทั้งนี้ บริษัท Eco-R Japan เป็นผู้นำด้านรีไซเคิลรถยนต์เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1959 ด้วยพันธกิจในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสร้างสังคมรีไซเคิลที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการนำทรัพยากรจากรถยนต์เก่ากลับมาใช้ประโยชน์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด Eco-R ไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลและการนำกลับมาใช้ใหม่เท่านั้น แต่ยังมุ่งมั่นในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และดูแลพนักงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรและสังคม ไปสู่ความยั่งยืน

ต่อมาในช่วงบ่ายได้เดินทางไปยังสำนักงานใหญ่องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เพื่อหารือร่วมกับ นายอิชิกุโระ โนริฮิโกะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan External Trade Organization: JETRO) และผู้บริหาร JETRO ในประเด็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยสู่ความยั่งยืน

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยมุ่งมั่นผลักดันนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) โดยให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การนำวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นโยบาย BCG สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศในการผลักดันมาตรการ ELV ซึ่งจะสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การศึกษาดูงานครั้งนี้ คณะผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรมมีโอกาสเยี่ยมชมโรงงานที่มีกระบวนการจัดการของเสียที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เช่น การจัดการซากรถยนต์ หลอดไฟ และแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุ รวมถึงมีโอกาสได้เยี่ยมชม Eco Town ของจังหวัดคิตะคิวชู ซึ่งเป็นต้นแบบของเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศด้วย

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า ประเทศไทยประกาศเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยตั้งเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2065 กระทรวงอุตสาหกรรมจึงวางนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด สร้างอุตสาหกรรมสีเขียว และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบันและเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)

"การหารือครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการกระชับความร่วมมือระหว่าง JETRO และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกันผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและอุตสาหกรรมสีเขียวในภูมิภาค ยืนยันว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะให้การสนับสนุนภาคเอกชนในการดำเนินธุรกิจที่มุ่งสู่ความยั่งยืน และจะเดินหน้าผลักดันให้มาตรการต่างๆ เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับประเทศไทย" นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

ด้านนางนิภา รุกขมธุ์ รองผู้ว่าการ กนอ. (สายงานยุทธศาสตร์) กล่าวเสริมว่า รัฐบาลมุ่งมั่นสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมอบหมายให้ กนอ. และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.)ร่วมกันพัฒนา นิคมอุตสาหกรรม Circular บนพื้นที่ 5,000 ไร่ในจังหวัดชลบุรี ซึ่งโครงการนี้มีเป้าหมายสำคัญในการสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายS-Curve) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญในการดึงดูดนักลงทุน และส่งเสริมการจัดการซากแบตเตอรี่อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ โดยการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Circular นี้ เป็นไปตามแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดของเสีย ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ

ปัจจุบันโครงการอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงาน โดยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กนอ. และ สกพอ. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 และได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการฯ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม คาดว่านิคมอุตสาหกรรม Circular จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ คณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรม Circular กำหนดนัดประชุมครั้งที่ 1 ในวันที่ 19 สิงหาคม 2567 เพื่อเร่งขับเคลื่อนงานด้าน Circular ร่วมกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ