ไทย-จีนร่วมหารือพัฒนาคมนาคมและโลจิสติกส์ คาดหวังไทยเชื่อมใช้เส้นทางรถไฟจีน-ลาวในอนาคต

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 22, 2024 18:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ไทย-จีนร่วมหารือพัฒนาคมนาคมและโลจิสติกส์ คาดหวังไทยเชื่อมใช้เส้นทางรถไฟจีน-ลาวในอนาคต

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม พร้อมเจ้าหน้าที่กระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้องได้เดินทางเข้าเยี่ยมชม ศูนย์โลจิสติกส์ทัณฑ์บนเทิงจวิ้น คลังสินค้ามาตรฐานดิจิทัล 5G คลังสินค้า cold chain อัจฉริยะ และศูนย์ควบคุมของศูนย์โลจิสติกส์ทางรถไฟและถนน ของท่าบกนานาชาติเทิงจวิ้น (Tengiun International Land Port) มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมกันนี้ได้เข้าร่วมประชุมหารือกับฝ่ายจีน นำโดยนายเซี่ย จวิ้นซง อธิบดีกรมคมนาคมมณฑลยูนนาน พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ระหว่างไทย-จีน โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศไทยได้ในอนาคต

ไทย-จีนร่วมหารือพัฒนาคมนาคมและโลจิสติกส์ คาดหวังไทยเชื่อมใช้เส้นทางรถไฟจีน-ลาวในอนาคต

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ท่าบกนานาชาติเทิงจวิ้น เป็นศูนย์โลจิสติกส์ครบวงจรที่สำคัญของมณฑลยูนนาน ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองนครคุนหมิงไปทางทิศใต้ประมาณ 55 กิโลเมตร มีพื้นที่รวมกว่า 1,500 ไร่ ด้วยมูลค่าการลงทุน 11,000 ล้านหยวน ซึ่งมีแผนก่อสร้างศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ ศูนย์คลังสินค้าอัจฉริยะ ศูนย์ขนส่งสินค้าทางรถไฟและถนนแบบหลายรูปแบบ ศูนย์โลจิสติกส์ทันฑ์บน และศูนย์จัดหาจัดซื้อระหว่างประเทศ รวม 16 โครงการ ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จและเปิดดำเนินการแล้ว 6 โครงการ นอกจากนี้ คลังสินค้า cold chain อัจฉริยะได้เริ่มทดลองดำเนินการในเดือนกรกฎาคม 2567 นี้ ซึ่งสามารถรองรับผักและผลไม้ รวมถึงทุเรียนและมังคุดจากไทย ที่ต้องรักษาอุณหภูมิในการขนส่งด้วยตู้สินค้าควบคุมอุณหภูมิ (Reefer Container)

ไทย-จีนร่วมหารือพัฒนาคมนาคมและโลจิสติกส์ คาดหวังไทยเชื่อมใช้เส้นทางรถไฟจีน-ลาวในอนาคต

ท่าบกนานาชาติเทิงจวิ้น เป็นหนึ่งท่าบกนานาชาติใน 17 ท่าบกที่ได้รับการรับรองใน "ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลว่าด้วยท่าบก" ของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเซียและแปซิฟิกของสหประชาชาติ โดยมีรหัสท่าเรือนานาชาติ CNKML มีจุดเด่นสำคัญคือ การเป็นศูนย์บริการโลจิสติกส์ครบวงจร มีโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถรองรับการขนส่งหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการเชื่อมต่อระหว่างถนนและระบบราง นอกจากนี้ ยังเป็นจุดแรกที่ทางรถไฟลาว-จีนเข้าสู่คุนหมิง โดยมีระยะทางรถไฟห่างจากสถานีบ่อหานประมาณ 800 กิโลเมตร ใช้เวลาขนส่งทางรถไฟจากสถานีบ่อหานถึงท่าบกเทิงจวิ้น ประมาณ 6-8 ชั่วโมง เนื่องจากต้องรอเวลาหลีกให้ขบวนรถโดยสารวิ่งผ่านไปก่อน ปัจจุบันมีการขนส่งสินค้าทางรถไฟลาว-จีนมาที่ท่าบกนานาชาติเทิงจวิ้น วันละ 5-6 ขบวน ขบวนละ 15-25 ตู้

ไทย-จีนร่วมหารือพัฒนาคมนาคมและโลจิสติกส์ คาดหวังไทยเชื่อมใช้เส้นทางรถไฟจีน-ลาวในอนาคต

นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ท่าบกนานาชาติเทิงจวิ้น มีศูนย์โลจิสติกส์ทางรางและถนนเทิงจวิ้น มีพื้นที่ 194 ไร่ ใช้เงินลงทุน 790 ล้านหยวน เป็นสถานีขนส่งสินค้าชั้นหนึ่งของประเทศ และเป็นสถานีเฉพาะที่เชื่อมต่อกับสถานีของรัฐบาลจีนอย่างไร้รอยต่อเพียงแห่งเดียวในประเทศจีน และเป็นหนึ่งใน 12 โครงการนำร่องการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบของประเทศ โดยศูนย์โลจิสติกส์ทางรางและถนนเทิงจวิ้น มีทางรถไฟรองรับการขนส่งสินค้า 3 ทาง ประกอบด้วย 2 ทางเป็นแบบต่อเนื่อง และ 1 ทางเป็นทางตัน มีอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น เครนขาสูงแบบติดตั้งบนราง (Rubber Tyre Rail Mounted Container Gantry :RMG) รองรับน้ำหนัก 40.5 ตัน จำนวน 5 ตัว และรถยกตู้คอนเทนเนอร์ (Reach stacker) จำนวน 6 คัน มีลานกองเก็บตู้สินค้าคอนเทนเนอร์กลางแจ้ง คลังสินค้าบนชานชาลา อาคารสำนักงานแบบครบวงจร เป็นต้น

"การเยี่ยมชมครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาความร่วมมือด้านโลจิสติกส์ระหว่างไทยและจีน โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าระหว่างสองประเทศ และหวังว่าจะได้ร่วมมือกับฝ่ายจีนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อในอนาคตอันใกล้"นายสุรพงษ์ กล่าว

ด้านนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า การเยี่ยมชมท่าบกนานาชาติเทิงจวิ้นครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นถึงศักยภาพของการเชื่อมโยงระบบขนส่งทางรางระหว่างไทย ลาวและจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าระหว่างสองประเทศ ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางรางพร้อมที่จะร่วมมือกับฝ่ายจีนในการพัฒนาระบบขนส่งทางรางและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงโลจิสติกส์ระหว่างไทยและจีนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นายพิเชฐ กล่าวปิดท้ายว่า การเยือนมณฑลยูนนานและการเยี่ยมชมท่าบกนานาชาติเทิงจวิ้นครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ระหว่างไทยและจีน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ