ครม. อนุมัติให้ใช้ที่ดิน ส.ป.ก.กว่า 3,455 ไร่ สร้างทางรถไฟ 2 โครงการ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 23, 2024 15:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติการใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ในเขตปฏิรูปที่ดิน เนื้อที่รวมประมาณ 1,537-3-04 ไร่ และโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม เนื้อที่รวมประมาณ 1,917-3-75 ไร่ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

ทั้งนี้ เพื่อให้ รฟท. สามารถดำเนินงานโครงการก่อสร้างได้ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด และคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) จะได้พิจารณาให้ความยินยอม หรืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป ตามที่ คปก. เสนอ

โดย คปก. รายงานว่า การดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ของ รฟท. ทั้ง 2 โครงการ เป็นโครงการของรัฐที่ ครม.ได้เคยมีมติอนุมัติให้ดำเนินการแล้ว ซึ่งเป็นประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ ในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง และระบบโลจิสติกส์ และมีความจำเป็นต้องขอความยินยอม หรือขออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อดำเนินการก่อสร้าง รวม 3,455-2-79 ไร่ ดังนี้

1. โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นโครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่สายใหม่ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด 17 อำเภอ 59 ตำบล แบ่งเป็น ทางรถไฟระยะทาง 323.10 กิโลเมตร อุโมงค์รถไฟจำนวน 4 แห่ง รวม 14.415 กิโลเมตร คันทางคู่สูงเฉลี่ย 4 เมตร ป้ายหยุดรถไฟจำนวน 13 แห่ง สถานีรถไฟขนาดเล็ก จำนวน 9 แห่ง และสถานีรถไฟขนาดใหญ่ จำนวน 4 แห่ง รวมทั้งสิ้น 6 สถานี

มีลานบรรทุกตู้สินค้า จำนวน 5 แห่ง ถนนยกข้ามทางรถไฟ จำนวน 39 แห่ง ถนนลอดใต้ทางรถไฟจำนวน 103 แห่ง พร้อมการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม และสร้างรั้วสองแนวข้างทางตลอดเส้นแนวทางรถไฟ

2. โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม เป็นโครงการก่อสร้างทางรถไฟใหม่จำนวน 2 เส้นทาง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด 19 อำเภอ 70 ตำบล โดยแบ่งเป็น 1. ทางรถไฟระดับดิน ระยะทาง 346 กิโลเมตร คันทางรถไฟสูงเฉลี่ย 4 เมตร และ 2. เป็นโครงสร้างทางรถไฟยกระดับ 9 กิโลเมตร ก่อสร้างป้ายหยุดรถไฟจำนวน 12 แห่ง สถานีรถไฟขนาดเล็ก จำนวน 9 แห่ง สถานีรถไฟขนาดกลาง จำนวน 5 แห่ง และสถานีรถไฟขนาดใหญ่ จำนวน 4 แห่ง รวมทั้งทั้งสิ้น 18 สถานี

มีลานบรรทุกตู้สินค้า จำนวน 3 แห่ง มีย่านกองเก็บตู้สินค้า จำนวน 3 แห่ง ถนนยกข้ามทางรถไฟ จำนวน 81 แห่ง ถนนลอดใต้ทางรถไฟ จำนวน 245 แห่ง พร้อมการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมมนาคม และสร้างรั้วสองแนวข้างทางตลอดเส้นแนวทางรถไฟ

จากการดำเนินโครงการดังกล่าว ส่งผลให้รัฐต้องสูญเสียที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมบางส่วน และส่งผลต่อเกษตรกรผู้ได้รับการจัดที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ในขณะเดียวกัน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จะให้ รฟท. ซึ่งเป็นผู้ขอใช้ประโยชน์ที่ดิน เยียวยาหรือจ่ายค่าชดเชยการสูญเสียโอกาสจากการใช้ที่ดินเพื่อก่อสร้างทางรถไฟ ให้แก่เกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินจาก ส.ป.ก. ตามข้อตกลงระหว่าง รฟท.กับเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งกำหนดเป็นจำนวนเงิน หรือประโยชน์อย่างอื่น เพื่อค่าทดแทนความเสียหายจากการรอนสิทธิเกษตรกร หรือการสูญเสียโอกาสในการใช้ที่ดินของเกษตรกรบรรดาผู้มีสิทธิในที่ดินนั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ