HotIssue หนี้เสียพุ่งไม่หยุด!! "เครดิตบูโร" ชี้จุดบอด แกะไม่ออก-มัดปมเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 24, 2024 18:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปัญหาหนี้ครัวเรือนคนไทยพุ่งสูงขึ้นจนกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของเศรษฐกิจไทยและแนวโน้มกำลังจะเพิ่มขึ้นทำนิวไฮ แม้ว่าภาครัฐจะพยายามเข้าไปแก้ปัญหา แต่ต้องมาเจอกับอุปสรรคสำคัญคือแบงก์เจ้าหนี้ไม่ยอมผ่อนปรนเงื่อนไขให้ลูกหนี้สามารถแก้ปัญหาได้จริง วันนี้ Hot Issue มาพูดคุยกับนายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ถึงสถานการณ์ปัญหาหนี้ของคนไทย

หนี้ครัวเรือนของไทยล่าสุดอยู่ที่ 16.4 ล้านล้านบาท ซึ่งเฉพาะตัวเลขที่เครดิตบูโรเก็บข้อมูลจากคนไทย 32 ล้านคน จากทั้งหมด 66 ล้านคน พบว่ามีหนี้สูงถึง 13.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.6%

และในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค.67 หนี้เสีย หรือ NPL (หนี้ที่ไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ได้เกินกว่า 90 วัน) พุ่งขึ้นไปทำนิวไฮถึง 1.14 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ครอบคลุมจำนวนลูกหนี้ประมาณ 5-6 ล้านคน โดยหนี้เสีย 3 อันดับแรกเป็น สินเชื่อรถยนต์ 2.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.1% สินเชื่อบ้าน 2.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.4% บัตรเครดิต 6.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.6%

โดยเฉพาะสินเชื่อบ้าน เมื่อตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกลงไปพบว่า สินเชื่อบ้านที่เป็นหนี้เสียไม่ได้มีวงเงินสูง แต่ละสัญญากู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท แต่ลูกหนี้เป็นกลุ่มคนรายได้น้อย-ปานกลาง ส่วนหนี้เสียสินเชื่อรถยนต์ปูดขึ้นมาเพราะพ้นระยะผ่อนปรนการชำระหนี้ในช่วงโควิด ทำให้ต้องกลับมาจ่ายวงเงินเดิม ขณะที่รายได้ของลูกหนี้ไม่ได้กลับมาเหมือนเดิม กลายเป็นปัญหาผ่อนไม่ไหว

"ภาพหนี้เสียในไตรมาส 1/67 โต 15% ช่วง 5 เดือนโตขึ้น 11% อาการยังทรงๆอยู่ที่ 1.14 ล้านล้านบาท และมีโอกาส ตามที่เราพยากรณ์ไปประมาณเดือน ส.ค.-ก.ย.ของปีนี้อาจจะไปแตะ 1.2 ล้านล้านบาท" นายสุรพล กล่าว

*หนี้กำลังจะเสีย 5 เดือนแรกพุ่ง

ปัญหาหนี้เสียยังไม่หยุดแค่นี้ เมื่อเครดิตบูโรพบว่าหนี้กำลังจะเสีย (Special Mentioned: SM ) (หนี้ที่ค้างชำระ 31-90 วัน) มีจำนวน 6.8 แสนล้านบาทเป็นตัวเลขนิวไฮ เร่งตัวขึ้นในช่วง 5 เดือนนี้ โตถึง 18.1% จากไตรมาส 1/67 โต 7% เป็นผลมาจากปัญหารายได้ของลูกหนี้ เพราะเศรษฐกิจโตต่ำ โดยในไตรมาส 1/67 GDP โตเพียง 1.5% และที่โตก็เฉพาะภาคส่งออกและท่องเทียว รายได้กระจายไม่ทั่วถึง

ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร อธิบายว่า ตั้งแต่ต้นปี 67 มาตรการที่เคยผ่อนปรนในช่วงโควิดกลับมาเข้มงวด โดยในส่วนบัตรเครดิต ปรับมาจ่ายขั้นต่ำ 8% จากแต่ก่อนจ่าย 5% ยิ่งเพิ่มภาระไปอีก ทำให้หนี้บัตรเครดิตที่เป็น SM โตขึ้นมา 35% มาที่ 1.3 หมื่นล้านบาท มีหนี้บัตรเครดิตกำลังจะกลายเป็นหนี้เสีย 2 แสนใบ สะท้อนให้เห็นว่าคนมีปัญหา เพราะกำลังที่จะผ่อนจ่ายขั้นต่ำน้อยลง ทั้งที่ยังไม่ต้องผ่อนจ่ายเต็มยอด ชี้วัดถึงความเปราะบางของรายได้ลูกหนี้

หนี้สินเชื่อบุคคล (Personal Loan) เป็นหนี้ SM อยู่ 1.4 แสนล้านบาท ในไตรมาส 1/67 โต 6% แต่ 5 เดือนแรกโตขึ้น 19% สินเชื่อบ้านเป็นหนี้ SM อยู่ 1.8 แสนล้านบาท 5 เดือนโต 25.1% ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ ในช่วง 5 เดือนหนี้ SM ชะลอตัว เพราะสถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อแล้ว และกำลังแก้หนี้ SM กันอยู่

*ปรับโครงสร้างหนี้ถึงทางตัน เมื่อแบงก์ไม่ยืดหยุ่น

ผู้จัดการ เครดิตบูโร ชี้ให้เห็นว่า หากไม่รีบแก้ไขหนี้กำลังจะเสียที่เพิ่มมากขึ้นเสียก่อน มีโอกาสปัญหาลุกลามไปเป็นหนี้เสีย เพราะจะทำให้การปรับโครงสร้างหนี้ยากขึ้น ปัญหาหนี้ครัวเรือนก็ยิ่งซ้ำเติมเข้าไปอีก

"หนี้กำลังจะเสียขยายตัวมากขึ้น ควรเร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน ทำได้ง่ายกว่าที่จะปล่อยให้ไปเป็นหนี้เสียไปก่อน ถ้าเป็นอย่างนั้นการปรับโครงสร้างหนี้จะยากกว่า และมีโอกาสหนี้เสียจะลุกลามเร็วขึ้น"

นายสุรพล กล่าวว่า การปรับโครงสร้างหนี้ก่อนปี 67 มีความยืดหยุ่นสูง กติกาผ่อนปรนและมีแรงจูงใจ โดยมีตัวเลขที่ปรับโครงสร้างหนี้เสียสูงถึง 1.07 ล้านล้านบาท แต่มาถึงปี 67 กลับมีกติกาเข้มงวดขึ้น ทั้ง ๆ ที่สถานการณ์เศรษฐกิจไทยซบเซา ทำให้สถานการณ์หนี้เสียรุนแรงขึ้น

หนี้เสียปัจจุบัน 1.14 ล้านล้านบาทจะแก้ไขได้หรือไม่ขึ้นกับกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ และภาวะเศรษฐกิจไทยว่าจะดีขึ้นหรือไม่ โดยครึ่งปีหลังก็คาดหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นเมื่อรัฐเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ แต่จะต้องไม่กระจุกตัว และก็ยังต้องระวังปัจจัยลบจากนอกประเทศด้วย

"มันมีทั้งความหวัง มีทั้งความท้าทาย มีทั้งบวก แต่ขณะเดียวกัน กติกาการปรับโครงสร้างหนี้ ต้องเป็นคนมีศักยภาพถึงจะปรับโครงสร้างหนี้ได้ ..ก็มีเสียงเรียกร้องให้ปรับโครงสร้างหนี้ตามศักยภาพที่เป็นจริงและยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าปัจจุบันนี้ได้หรือไม่"

ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.67 การปรับโครงสร้างหนี้ทั้งหนี้ SM และ NPL ของสถาบันการเงิน มีเงื่อนไขสำคัญคือศักยภาพของลูกหนี้ ต้องมีรายได้แน่นอนมั่นคงเพียงพอที่จะนำมาปรับโครงสร้างหนี้ และต้องมั่นใจว่าลูกหนี้จะสามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดชำระใหม่ ซ้ำยังมีกติกาเพิ่มขึ้นอีกว่าหากลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้มากกว่า 2 ครั้งใน 1 ปี แม้ว่าจะผ่อนชำระได้ แต่สถานะของลูกหนี้ก็ยังคงเป็น SM

นายสุรพล กล่าวว่า เงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารเจ้าหนี้ที่เสนอให้ลูกหนี้ มีคำถามว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ ดูเหมือนข้อเสนอจะเป็นความต้องการของทางแบงก์มากกว่า ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องลงไปดูความเป็นจริงการปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างแบงก์เจ้าหนี้และลูกหนี้ให้ละเอียด

ธปท.ควรจะต้องกลับมาพิจารณามาตรการปรับโครงสร้างหนี้ในปัจจุบัน เพราะเห็นอยู่แล้วว่าเงื่อนไขที่เจ้าหนี้เสนอนั้นเป็นไปไม่ได้ ลูกหนี้จำนวนมากไม่สามารถผ่อนชำระได้ แม้แต่หนี้บัตรเครดิตที่ไม่เพียงแต่จะจ่ายยอดเต็ม แค่ยอดขั้นต่ำยังไม่สามารถจ่ายได้ และปีนี้ปรับขึ้นยอดผ่อนชำระขั้นต่ำมาเป็น 8% จาก 5% ทำให้มีโอกาสจะเห็นยอดหนี้ที่กำลังเสียมากขึ้น หากยังดึงดันเพิ่มอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำเป็น 10% ในปี 68 ตามที่วางเป้าหมายไว้ จะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์หรือไม่ ดังนั้น ถึงเวลาทบทวนมาตรการหรือยัง?

https://youtu.be/dhC3xrR34uQ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ