นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้ปรับเป้าผลิตรถยนต์ปี 67 จาก 1,900,000 คัน เป็น 1,700,000 คัน ลดลง 200,000 คัน คิดเป็นลดลง 10.53% โดยเป็นการปรับเป้าเฉพาะผลิตขายในประเทศลดลงจาก 750,000 คันเป็น 550,000 คัน จากปัจจัยลบ ดังนี้
- หนี้ครัวเรือนสูงถึง 90% ของ GDP ประเทศในขณะที่รายได้ครัวเรือนยังต่ำจากเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำ
- การลงทุนจากต่างประเทศรวมทั้งดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังลดลงมาหลายเดือนแล้ว คนงานมีรายได้ลดลง ประชาชนระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น
- หน่วยงานเศรษฐกิจหลายแห่งลดการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยลง
- สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์โดยเฉพาะรถกระบะ
- จำนวนแรงงานวัยทำงานน้อยกว่าเพื่อนบ้านจากอัตราการเกิดต่ำ จะทำให้นักลงทุนลังเลในการลงทุนเพราะเป็นสังคมสูงอายุ
สำหรับการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออก ยังคงประมาณการไว้เท่าเดิมที่ 1,150,000 คัน เนื่องจากมีปัจจัยบวกจากการที่ยอดขายรถยนต์ของประเทศคู่ค้า 3 ใน 4 ของตลาดส่งออกยังเติบโต เช่น ออสเตรเลีย สหรัฐฯ ยุโรป ตะวันออกกลาง เป็นต้น ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศจีนยังเติบโต ส่งผลดีต่อประเทศในเอเชีย ที่มีสัดส่วนถึง 28% ของรถยนต์ที่ไทยส่งออก นอกจากนี้ ยังคาดว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยลงด้วย
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยลบที่ต้องจับตา โดยเฉพาะสงครามการค้า และสงครามยูเครนกับรัสเซียและสงครามอิสราเอลกับฮามาสที่อาจบานปลาย, การเพิ่มการเข้มงวดในการควบคุมเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ และเศรษฐกิจจีน ที่ถ้าโตในอัตราต่ำ จะส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศในเอเชีย ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับสองรองจากตลาดออสเตรเลียได้
จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนมิ.ย. 67 มีทั้งสิ้น 116,289 คัน ลดลง 20.11% จากเดือนมิ.ย. 66 และลดลง 7.82% จากเดือนพ.ค. 67 จากการผลิตขายในประเทศที่ลดลงถึง 43.08% ตามยอดขายในประเทศที่ลดลง 26% และผลิตส่งออกลดลง 3.70% ส่วนจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนม.ค.-มิ.ย. 67 มีจำนวนทั้งสิ้น 761,240 คัน ลดลง 17.39% เมื่อเทียบกับเดือนม.ค.-มิ.ย. 66
- ผลิตเพื่อส่งออกได้ 81,767 คัน เท่ากับ 70.31% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลง 3.70% จากเดือนมิ.ย. 66 ส่วนเดือนม.ค.-มิ.ย. 67 ผลิตเพื่อส่งออกได้ 516,183 คัน เท่ากับ 67.81% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากปี 66 ในช่วงเดียวกัน 2.73%
- ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ในเดือนมิ.ย. 67 ผลิตได้ 34,522 คัน เท่ากับ 29.69% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลง 43.08% จากเดือนมิ.ย. 66 และเดือนม.ค.-มิ.ย. 67 ผลิตได้ 245,047 คัน เท่ากับ 32.19% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากปี 66 ในช่วงเดียวกันที่ 37.30%
ขณะที่ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ มีจำนวนทั้งสิ้น 47,662 คัน เพิ่มขึ้น 4.43% จากเดือนพ.ค. 67 แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว 26.04% เนื่องจากรถกระบะที่ขายลดลงถึง 36.44% และรถ PPV ลดลง 49.98% จากหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และเศรษฐกิจของประเทศเติบโตในอัตราต่ำ สถาบันการเงินจึงระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อ โดยเฉพาะรถกระบะและรถบรรทุก
ส่วนยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปได้ 89,071 คัน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 0.24% แต่เพิ่มขึ้น 0.28% จากเดือนมิ.ย. 66 จากการที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังเติบโต และส่งออกรถยนต์นั่ง HEV เพิ่มขึ้นถึง 356.12% จึงส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดเอเชีย แอฟริกา ยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และอเมริกาใต้
โดยเดือนม.ค.-มิ.ย. 67 ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปได้ทั้งหมด 519,040 คัน ลดลงจากช่วงระยะเวลาเดียวกัน 1.85% โดยมีมูลค่าการส่งออกรถยนต์อยู่ที่ 363,474.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.42% จากเดือนม.ค.-มิ.ย. 66
"การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปถือว่ากลับมาสูงกว่าช่วงโควิด-19 ในปี 62 แล้ว และยังพบว่ามีหลายประเทศหันมาสนใจรถยนต์ไฮบริดมากขึ้น จึงมองว่าไทยมาถูกทางแล้ว ที่มองการณ์ไกลผลิตไฮบริด โดยล่าสุดยอดขายไฮบริดเป็น 2 เท่าของรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว" นายสุรพงษ์ กล่าว
- ประเภท BEV ในเดือนมิ.ย. 67 มีจำนวน 7,990 คัน ลดลงจากเดือนมิ.ย. ปีที่แล้ว 17.46% โดยตั้งแต่เดือนม.ค.-มิ.ย. 67 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า BEV จดทะเบียนใหม่สะสมจำนวน 51,911 คัน เพิ่มขึ้น 20.60% จากเดือนม.ค.-มิ.ย. ปีที่แล้ว
- ประเภท HEV มีจำนวน 12,589 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิ.ย. ปีที่แล้ว 68.01% โดยตั้งแต่เดือนม.ค.-มิ.ย. 67 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า HEV จดทะเบียนใหม่สะสมจำนวน 71,906 คัน เพิ่มขึ้น 55.84% จากเดือนม.ค.-มิ.ย. ปีที่แล้ว
- ประเภท PHEV มีจำนวน 843 คัน ลดลงจากเดือนมิ.ย. ปีที่แล้ว 21.58% โดยตั้งแต่เดือนม.ค.-มิ.ย. 67 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า PHEV จดทะเบียนใหม่สะสมจำนวน 4,896 คัน ลดลง 21.94% จากเดือนม.ค.-มิ.ย. ปีที่แล้ว