วงสัมมนา SPACEBAR MONEY FORUM 2024 ในหัวข้อ "ยานยนต์ไทยยุคอีวี โอกาสหรือวิกฤต..?" ชี้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ในภาวะซบเซา การเติบโตยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร อีกทั้งการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในวงกว้าง พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดนโยบายที่ชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน
นายวิทวัฒน์ ทองเวส เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สถานการณ์นี้เป็นทั้งวิกฤตและโอกาส โดยไทยอาจเป็นศูนย์กลางการผลิตได้ เนื่องจากมีการเข้ามาลงทุนของจีน ซึ่งอาจเป็นโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ผู้ผลิตในไทยต้องปรับตัวให้รอด นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังมุ่งสู่ "Future Mobility" รวมถึงยานยนต์สันดาปที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และการผลักดัน Carbon Neutral
"การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีจากรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า มาพร้อมกับทั้งวิกฤตและโอกาส แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นอุปสรรคสำคัญ" นายวิทวัฒน์ กล่าว
พร้อมระบุว่า สถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ ล่าสุดปีนี้ต้องปรับลดเป้าการผลิตลง 2 แสนคัน เนื่องจากยอดขายในประเทศลดลง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถปิคอัพ ไม่ได้เกิดจากการเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดของรถยนต์ไฟฟ้า แต่ในระยะต่อไป เชื่อว่าจะเกิดผลกระทบต่อการส่งออกจากการที่บางตลาด เช่น ออสเตรเลีย ต้องการสินค้าที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ขณะที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าขยายตัวได้ดี เพราะคนไทยให้การตอบรับจนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สถานีชาร์จไม่เพียงพอกับความต้องการ เพราะกระจุกตัวในหัวเมืองใหญ่
ในส่วนของ ส.อ.ท.ได้เตรียมมาตรรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยจัดตั้งกลุ่มยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อรองรับการพัฒนารถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงทุกรูปแบบ ขณะที่นโยบายของรัฐบาลยังขาดความชัดเจน เช่น เรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น หรือเรื่องค่าไฟฟ้าที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุน และควรมีมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ ส่วนการปรับตัวของผู้ประกอบการนั้น มั่นใจว่าคนไทยสามารถปรับตัวได้ แต่ต้องมีการ upskill อย่างต่อเนื่อง
"เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แล้วยังปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้เกิดแรงกระแทกรุนแรง" นายวิทวัฒน์ กล่าว
ด้าน น.ส.ณชา อนันต์โชติกุล หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ KKP Researh กลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า อุตสาหกรรมอีวีเป็นทั้งโอกาสและวิกฤต ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญใหญ่ที่สุดในรอบ 40 ปี เพราะเกิด 2 ด้านพร้อม ๆ กัน คือ การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ จากเครื่องยนต์สันดาปภายใน เป็นเครื่องยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่ มาเป็นไฟฟ้า และการเปลี่ยนแปลงผู้เล่น จากเดิมที่เป็นค่ายญี่ปุ่น-ยุโรปกลายเป็นจีน (ผู้เล่นหน้าใหม่) ซึ่งทรงพลังมาก และต้องการเป็นเจ้าตลาด
"ความท้าทายใหญ่ที่เขย่าสะเทือนโลกขณะนี้ มันมากระทบกับสถานะที่เราเป็นที่ 1 ของอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคเอเชีย ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์เราเป็น ICE (สันดาปภายใน) ก็โดนดิสรัปอย่างหนึ่งแล้ว อย่างที่ 2 คือค่ายรถยนต์ที่อยู่ในเมืองไทยมาดั้งเดิม (ญี่ปุ่น) พอผู้เล่นหน้าใหม่ (จีน) เข้ามาตีตลาด มาแข่งขัน เลยทำให้ผู้เล่นรายเดิม ที่ไทยเป็นพันธมิตรด้วย และเป็นฐานการผลิตในไทย โดนกระทบไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ภาครัฐจะต้องมีมาตรการที่ให้โอกาสอย่างเท่าเทียม" น.ส.ณชา กล่าว
อย่างไรก็ดี เราไม่ได้ปฏิเสธการเข้ามาของอีวี ไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องไม่ดี แต่การเปลี่ยนเทคโนโลยีไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะรถยนต์ แต่ได้เกิดขึ้นในทุกอุตสาหกรรม ถือเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว และสร้างโอกาสใหม่ ๆ มากมาย
แต่ที่น่ากังวลคือ ถ้าไม่มีการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ให้ดี ๆ เราอาจเพลี่ยงพล้ำ และทำให้เกิดผลกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจ ต่อซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมยานยนต์ในปัจจุบัน รวมไปถึงเรื่องแรงงาน การจ้างงาน (แรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์) ที่ต้องบอกว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจไทยด้วย นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของ NPL ที่มีสัดส่วน 16% ของหนี้ทั้งหมด ยิ่งซ้ำเติมการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ยอดขายลดลงตามมา
"ขณะที่ขนมเค้กชิ้นเล็กลง แต่มีคนกินหน้าใหม่เพิ่มขึ้น ก็ย่อมเกิดผลกระทบแน่นอน เทคโนโลยีไม่หยุดนิ่ง รถยนต์ไม่ใช่กระป๋องเคลื่อนที่ได้เท่านั้น แต่จะเป็นที่เก็บรวบรวมเทคโนโนโลยี" น.ส.ณชา กล่าว
ด้านนายสุโรจน์ แสงสนิท นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้า (EVAT) กล่าวว่า รถยนต์ไฟฟ้าอาจไม่ใช่โอกาส 100% หากเปรียบเทียบรถน้ำมันกับรถไฟฟ้า ส่วนที่ต่าง คือ การขับเคลื่อน ซึ่งมีหลายอย่างหายไป โดยหนึ่งในนั้นคือ เครื่องยนต์ ท่อไอเสีย และหม้อลมเบรก รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นโอกาสในการแก้ปัญหาโลกร้อน และเป็นวิธีแก้ปัญหาที่จับต้องได้ และลงมือทำได้เลย
ส่วนความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน อาจเป็นโอกาสดีสำหรับประเทศในอาเซียน ที่จะได้อานิสงค์ "ส้มหล่น" จากจีนเข้ามาลงทุนในไทยมากยิ่งขึ้น
"เรื่องสงครามการค้าระหว่าง อเมริกากับจีน ซึ่งจีนเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในโลกของรถไฟฟ้า แต่ปัจจุบัน ประตูการค้าของยุโรปและอเมริกาได้ปิดลง ถือเป็นวิกฤตของจีน แต่นั้นกลับกลายเป็นโอกาสของกลุ่มอาเซียนเรา แม้ประตูการค้าปิดลง แต่ยังไม่มีการย้ายฐานการผลิต อีก 12 เดือนข้างหน้า จะมีย้ายถิ่นฐานการผลิตเข้าในไทย เสมือนการเปลี่ยนสัญชาติรถยนต์ไฟฟ้า นั้นจึงกลายเป็นโอกาสให้ซับพลาย" นายสุโรจน์ กล่าว
นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า กรณีเกิดสงครามราคาไม่ได้เพิ่มยอด ลูกค้าหลายคนก็จะคอยราคาว่าจะลดอีกหรือไม่ คนที่ซื้อแล้วจะเกิดความไม่พอใจ และเพิ่มแรงต่อต้านขึ้นมา การผลิตชดเชย การลดราคา สงครามราคาไม่ใช่การที่เราต้องผลิตชดเชย ที่จริงแล้วสต็อกยังนำเข้าอยู่ โดยปัจจุบันมีแค่ 3 ยี่ห้อที่ผลิตในประเทศ ซึ่งก็ยังไม่พอ MG, เกรท วอลล์ มอเตอร์, เนต้า เพิ่งเริ่มผลิตได้หลายพันคัน แต่ยังไม่พอชดเชย 1 เท่าตามโครงการอีวี 3.0
"ไม่ใช่กำลังผลิตไม่พอ แต่เป็นการผลิตไปกองไว้ เนื่องจากขายไม่ออก และต้องเบรกการผลิตไป เราอาจต้องเจรจาขอชะลอการผลิต เพราะยังส่งออกไม่ได้" นายสุโรจน์ กล่าว
อย่างไรก็ดี สถานการณ์รถยนต์ไฟฟ้ายังไม่ตก แต่อัตราเร่งลดลงไป ถ้าหากดูจากสถิติรถไฟฟ้าทั่วโลกยังเติบโตอยู่ประมาณ 14 ล้านคัน ส่วนในประเทศ อัตราส่วนถ้าเทียบกับรถยนต์สันดาป อย่างปีที่แล้วไป 12% ปีนี้เป็น 13% เรียกว่าอัตราการเร่งลดลงไป โดยปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจเป็นตัวหลัก ตามมาด้วยสงครามราคา
ทั้งนี้ เรื่องอะไหล่รถยนต์สันดาป กับรถยนต์ไฟฟ้าที่พูดกันว่าหายไปจาก 3 หมื่นรายการ เหลือ 2.7 พันรายการนั้น ส่วนใหญ่เป็นอะไหล่เครื่องยนต์ แต่โครงสร้างในภาพรวมใกล้เคียงกัน จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนในบ้านเรามากนัก ในทางตรงกันข้ามก็เปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์เข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม และเร็ว ๆ นี้ภาครัฐเตรียมพิจารณามาตรการส่งเสริมรถไฮบริดจ์
"ราคารถอีวีจะไม่ถูกลงไปกว่านี้ เพราะราคาพอ ๆ กับที่จีน ส่วนที่กลัวว่ารถมือสองจะราคาถูกก็เหมือนกับมือถือ ยิ่งนานวันก็มีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาทดแทน" นายสุโรจน์ กล่าว
นายพิทยา ธนาดำรงศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีวี ไพรมัส จำกัด กล่าวว่า รถยนต์อีวีถือเป็นโอกาสมากกว่าวิกฤต การที่จีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากรัฐบาลไทยให้การสนับสนุนแรงที่สุดในอาเซียน จึงทำให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าสูงขึ้น 70,000 กว่าคัน เกือบ 80,000 คัน ประกอบกับรัฐบาลไทยยังอนุญาตให้นำเข้าก่อน แล้วค่อยผลิตชดเชยในภายหลัง
"การที่จีนเข้ามาลงทุนในไทย ผมว่าเป็นโอกาส แต่จะกลายเป็นวิกฤตตรงที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนในบ้านเราจะปรับตัวได้ทันหรือไม่" นายพิทยา กล่าว
ส่วนสงครามราคาถือเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเผ็ดร้อน โดยเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความสับสน และขาดความเชื่อมั่นในกลุ่มผู้บริโภค ดังนั้นเราต้องมองว่าเมื่อไรมันจะถึงจุดสิ้นสุด เรื่องนี้ถือเป็นความเจ็บปวดของผู้ผลิต โดยต้องยอมรับว่าการที่รถยนต์ไฟฟ้าผลิตในประเทศไทย ราคาอาจไม่ได้ถูกเท่าประเทศจีน
"แม้เราไม่สามารถหยุดความคิดของบางแบรนด์ได้ แต่เมื่อกลไกผลิตรถยนต์แต่ละค่ายเริ่มผลิตแล้ว สงครามราคา ไม่น่าลงไปกว่านี้ และน่าจะสิ้นสุดในเร็ว ๆ นี้" นายพิทยา กล่าว
โดยสงครามราคา คาดว่าเกิดจากปัญหาโอเวอร์ซับพลายที่จีน ซึ่งในจีนอาจมีการอัดฉีดยอดการผลิต จนไม่สามารถระบายออกได้ทัน จึงล้นเข้าประเทศไทย อีกอย่างน่าจะเป็นความพยายามการแย่งส่วนแบ่งตลาด ทั้งรถอีวี และรถน้ำมัน รวมถึงการเอาชนะญี่ปุ่น จึงทำให้เกิดความไม่ปกติในตลาดรถอีวี
"ยุคนี้ผู้บริโภคต้องปรับตัวตามเทคโนโลยี ตลาดรถยนต์มีตัวเลือกมากกว่าเดิม แล้วแต่ความต้องการของแต่ละคน" นายพิทยา กล่าว