ส่งออกมิ.ย. -0.3% ลดลงเล็กน้อยหลังจบฤดูผลไม้ แต่เกินดุล 2 เดือนติด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 26, 2024 10:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ส่งออกมิ.ย. -0.3% ลดลงเล็กน้อยหลังจบฤดูผลไม้ แต่เกินดุล 2 เดือนติด

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน มิ.ย.67 ว่า การส่งออกมีมูลค่า 24,796.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงเล็กน้อยที่ 0.3% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 24,578.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.3% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 218 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการเกินดุลการค้าต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

ทั้งนี้ การส่งออกเดือนมิ.ย. ลดลงเล็กน้อย เนื่องจากเป็นช่วงสิ้นสุดฤดูการผลไม้ของภาคตะวันออก รวมทั้งสถานการณ์ภัยแล้งที่ทำให้ปริมาณผลผลิตทุเรียนลดลง รวมถึงการพักเดินเรือขนส่งสินค้าในภูมิภาค อันเนื่องจากระยะเวลาการส่งมอบสินค้าที่ถูกเลื่อนออกไป

สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออก มีมูลค่ารวม 145,290 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2% การนำเข้า มีมูลค่ารวม 150,532.6 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3% ส่งผลให้ภาพรวมดุลการค้าในช่วงครึ่งปีแรกของไทย ยังขาดดุลที่ 5,242.7 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าหมายการส่งออกทั้งปีนี้ไว้ตามเดิมที่ 1-2% และคาดว่า การส่งออกในเดือนก.ค. จะกลับมาขยายตัวได้

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า การส่งออกในเดือนมิ.ย. กลับมาหดตัวเล็กน้อย โดยมีสาเหตุหลักจากสินค้าผลไม้เข้าสู่ช่วงท้ายของฤดูกาล จึงมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่บรรยากาศการค้าโลกเริ่มมีความวิตกกังวลต่อแนวโน้มการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งในหลายประเทศ นอกจากนี้ ประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี อาทิ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ยังส่งผลให้ความต้องการของเครื่องยนต์สันดาปฯ หดตัวลงอย่างชัดเจน

สำหรับในเดือนมิ.ย.นี้ หากแยกการส่งออกเป็นรายกลุ่มสินค้า จะพบว่า

  • สินค้าเกษตรกลับมาหดตัว โดยมีมูลค่าการส่งออก 2,511.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.2%
  • สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยมีมูลค่าการส่งออก 1,875.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.8% แต่ยังมีสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ไขมัน-น้ำมัน จากพืชและสัตว์, อาหารสัตว์เลี้ยง, ผลไม้กระป๋องและแปรรูป
  • สินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มีมูลค่าการส่งออก 19,442.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.3% โดยสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ, รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ

ขณะที่การส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง เช่น สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, เวียดนาม) ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา โดยตลาดส่งออกของไทย ที่ขยายตัวสูงสุด 10 อันดับแรก ในเดือนมิ.ย.67 ได้แก่

อันดับ 1 สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัว 106.9% อันดับ 2 กัมพูชา ขยายตัว 44.2% อันดับ 3 เม็กซิโก ขยายตัว 36.6% อันดับ 4 บังกลาเทศ ขยายตัว 33.0% อันดับ 5 ซาอุดีอาระเบีย ขยายตัว 22.5% อันดับ 6 อินเดีย ขยายตัว 10.1% อันดับ 7 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขยายตัว 8.9% อันดับ 8 สหรัฐอเมริกา ขยายตัว 5.4% อันดับ 9 แคนาดา ขยายตัว 5% และอันดับ 10 ฟิลิปปินส์ ขยายตัว 3.5%

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกทั้งปี 67 โดยคาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 1-2% โดยมีปัจจัยบวกจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร และการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลที่สนับสนุนความต้องการสินค้าที่เกี่ยวข้อง

โดยในช่วงที่เหลือของปีนี้ หากการส่งออกแต่ละเดือนมีมูลค่า 23,297 ล้านดอลลาร์ ก็จะทำให้ทั้งปีการส่งออกขยายตัวได้ 1% แต่หากสามารถทำได้เดือนละ 24,248 ล้านดอลลาร์ จะทำให้ทั้งปีการส่งออกขยายตัวได้ 2% ซึ่งเงินบาทที่อ่อนค่า ก็มีส่วนช่วยหนุนการส่งออกของไทยด้วยเช่นกัน ขณะที่มุมมองจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังคาดว่าเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักมีสัญญาณดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เพิ่มกำลังซื้อและความต้องการสินค้ามากขึ้น

"ส่งออกเดือนก.ค. น่าจะกลับมาบวกได้ หากไม่มีสถานการณ์อะไรที่ช็อค และภาพรวมทั้งปี ยังมองไว้ที่ 1-2% ตามเป้าหมาย...ถ้าดูจากสถิติแล้ว การส่งออกของไทยปีนี้น่าจะทำได้มากสุด แตะที่ 10 ล้านล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา เราไม่เคยทำได้เกิน 10 ล้านล้านบาท" นายพูนพงษ์ ระบุ

อย่างไรก็ดี การส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง ที่ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดลดลง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงอยู่ สงครามกลางเมืองในหลายประเทศ ปัญหาค่าระวางเรือที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจของคู่ค้าบางประเทศฟื้นตัวได้ค่อนข้างล่าช้า รวมถึงการเลือกตั้งในหลายประเทศสร้างความไม่แน่นอน ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุน เพื่อรอท่าทีนโยบายของรัฐบาลใหม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ