นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกที่สถาบันการเงินไทยออก Blue Bond สกุลบาท อายุ 3 ปี วงเงินรวม 3,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.78% ต่อปี ภายใต้ Sustainable Finance Framework ซึ่งธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เป็นที่ปรึกษาการจัดทำ และให้การรับรองการออก Blue Bond โดย DNV (Thailand) Co., Ltd. ซึ่งเป็นองค์กรรับรองมาตรฐานชั้นนำระดับโลก และได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ AAA จาก Fitch Ratings
ซึ่งสะท้อนถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และมั่นคงของ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เพื่อระดมทุนไปใช้สนับสนุนสินเชื่อของธนาคารให้แก่ธุรกิจที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง ตอบสนองวิสัยทัศน์ประเทศไทย "IGNITE THAILAND" และนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
รมช.คลัง กล่าวว่า วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้นานาประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ตระหนักถึงความจำเป็นในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม มีหมุดหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2608 โดยให้ความสำคัญและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมครบทุกมิติ รวมถึงทรัพยากรทางทะเล ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของสิ่งมีชีวิต และทรัพยากรที่หลากหลาย ตลอดจนเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนสำคัญของโลก
การเดินหน้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว จึงไม่อาจมองข้ามการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) ได้ เพื่อดำรงรักษาที่อยู่อาศัยของประชากรโลกกว่า 3,000 ล้านคน สร้างการจ้างงานมากถึง 820 ล้านคนในอุตสาหกรรมประมงและที่เกี่ยวเนื่อง ขณะที่ 80% ของปริมาณการค้าโลก เป็นการขนส่งทางทะเล
ทั้งนี้ UNCTAD ประเมินค่า Blue Economy ของโลกอยู่ที่ราว 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ World Economic Forum คาดการณ์ว่า โลกจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเลและทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน (SGD ที่ 14) ได้ จะต้องใช้เงินลงทุนด้าน Blue Finance มากถึงราว 175,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่ในช่วงปี 2558-2562 มีเงินลงทุนจริงไม่ถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี นั่นหมายถึงยังมี GAP อีกมากถึงเกือบ 165,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ข้อมูลจาก ADB ระบุว่า ประเทศไทย มีมูลค่าเศรษฐกิจทางทะเลและที่เกี่ยวเนื่องมากถึง 30% ของ GDP ครอบคลุมในหลายอุตสาหกรรม คิดเป็นสัดส่วนการจ้างงานถึง 26% ของการจ้างงานรวม รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด ผ่านการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
"การออก Blue Bond ของ EXIM BANK ในครั้งนี้ นับเป็นนวัตกรรมทางการเงินสีเขียว ที่ช่วยเติมเต็มเศรษฐกิจสีเขียว ผนวกกับเศรษฐกิจสีน้ำเงิน เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการดูแลรักษาระบบนิเวศอย่างยั่งยืน นำไปสู่การพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งบนผืนดิน และมหาสมุทรอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ประเทศไทย "IGNITE THAILAND" โดยความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงินเพื่อพัฒนาประเทศไทยเป็น Financial Hub เพื่อความยั่งยืน" รมช.คลัง ระบุ
ด้านนายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า EXIM BANK ได้ออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เป็นจำนวนรวม 11,500 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา โดย Blue Bond ที่ EXIM BANK เสนอขายวงเงินรวม 3,000 ล้านบาท ได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนรายใหญ่ จนสามารถเสนอขายได้เต็มจำนวนวงเงิน มียอดจองซื้อสูงถึง 2.5 เท่าของวงเงินที่เสนอขาย
"การระดมทุนในครั้งนี้ จะนำไปส่งเสริมและสนับสนุนแก่ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการ ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน อาทิ ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวทางทะเล การประมง รวมถึงการเพาะเลี้ยงพืชและสัตว์น้ำ การจัดการและบำบัดน้ำเสีย การรีไซเคิลขยะจากทะเล และพาณิชยนาวี เป็นต้น" กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ระบุ
นอกจากนี้ EXIM BANK ยังพัฒนาเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ อาทิ สินเชื่อเพื่อธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล (Blue Economy) ภายใต้แนวทาง Sustainability Linked Loan (SLL) ประกอบด้วย สินเชื่อหมุนเวียนและสินเชื่อระยะยาว สำหรับผู้ประกอบการทุกขนาดธุรกิจ อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 3.85% ต่อปี วงเงินอนุมัติสูงสุด 200 ล้านบาท
ทั้งนี้ EXIM BANK มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน จากราว 37% ในปัจจุบัน เป็น 50% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดภายในปี 2570
"Blue Bond ครั้งนี้ มิใช่เพียงเครื่องมือทางการเงิน แต่เป็นกลไกความร่วมมือและความมุ่งมั่นของ EXIM BANK ร่วมกับกระทรวงการคลัง ตลอดจนหน่วยงานพันธมิตรจากภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติจากผืนดินสู่มหาสมุทร ร่วมกันแก้ไขปัญหาโลกเดือด และสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อสร้างโลกที่น่าอยู่ขึ้นสำหรับพวกเราทุกคน" นายรักษ์ กล่าว