คลัง เพิ่มคาดการณ์ GDP ปีนี้เป็น 2.7% จากแรงหนุนท่องเที่ยว-ส่งออก ลุ้นทั้งปีแตะ 3%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 26, 2024 09:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คลัง เพิ่มคาดการณ์ GDP ปีนี้เป็น 2.7% จากแรงหนุนท่องเที่ยว-ส่งออก ลุ้นทั้งปีแตะ 3%

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เปิดเผยการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ว่า กระทรวงการคลัง ได้ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ 2.7% (กรอบ 2.2-3.2%) ปรับเพิ่มจากประมาณการครั้งก่อนที่ 2.4% เมื่อเดือนเม.ย.

โดยเศรษฐกิจไทยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว ทั้งในมิติของจำนวนนักท่องเที่ยว และรายจ่ายต่อหัวนักท่องเที่ยวที่สูงกว่าประมาณการในครั้งก่อน ซึ่งคาดว่าในปีนี้ จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 36 ล้านคน ขยายตัว 27.9% เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่ 35.7 ล้านคน และรายจ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยว คาดอยู่ที่ 47,000 บาท/คน/ทริป โดยรวมภาคการท่องเที่ยวจะสร้างรายได้กว่า 1.69 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.4%

คลัง เพิ่มคาดการณ์ GDP ปีนี้เป็น 2.7% จากแรงหนุนท่องเที่ยว-ส่งออก ลุ้นทั้งปีแตะ 3%

นอกจากนี้ การส่งออกมีสัญญาณขยายตัวดีกว่าที่คาด โดยปีนี้คาดจะขยายตัวได้ 2.7% เพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อนที่ 2.3% เป็นผลจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าสำคัญขยายตัวได้ดีขึ้นโดยเฉพาะ สหรัฐอเมริกา จีน และยูโรโซน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะอยู่ที่ 0.6% ต่อปี ดุลบริการเกินดุลตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2567 เกินดุล 11.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 2.4% ของ GDP ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน คาดขยายตัว 4.5% เพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อน ส่วนหนึ่งจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้น และการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

รมช.คลัง กล่าวว่า ตัวเลขการประมาณการ GDP นี้ ไม่ได้นับรวมผลที่คาดว่าจะได้รับในระบบเศรษฐกิจที่เกิดจากโครงการ Digital Wallet

"กระทรวงการคลัง ประมาณเบื้องต้นว่าหากพิจารณาเฉพาะโครงการ Digital Wallet นี้ จะส่งผลช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัว 1.2-1.8% ตลอดทั้งโครงการ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของเงิน เงื่อนไขโครงการ และจำนวนผู้มีเข้าร่วมโครงการ และพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้รับสิทธิ์" นายเผ่าภูมิ กล่าว
*มีลุ้นเศรษฐกิจไทยปีนี้ โตแตะ 3%

นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า การประมาณการ GDP ที่ 2.7% ในครั้งนี้ ได้รวมเรื่องนโยบายการเงินไว้ด้วยแล้ว แต่คงไม่เหมาะสมที่จะพูด ส่วนเรื่องการจะลดหรือไม่ลดอัตราดอกเบี้ยนั้น ก็ไม่เหมาะสมที่จะพูดเช่นกัน เพราะจะเป็นการชี้นำหรือกดดัน

"ทั้งมาตรการด้านการคลัง และการเงิน ต่างคนต่างทำหน้าที่ โดยให้อิสระซึ่งกันและกัน โดยมาตรการด้านการคลังจะทำหน้าที่เต็มที่ ส่วนมาตรการด้านการเงิน ก็คาดหวังว่าจะทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ด้วย" รมช.คลัง กล่าว

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวได้สูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเป็นเป็นช่วง High season ของการท่องเที่ยว

"2.7% ถือเป็นตัวเลขที่ดี แต่รัฐบาลต้องการทำให้ดีมากกว่านั้น ต้องการให้เศรษฐกิจโตได้สูงขึ้น มั่งคั่งทั้งในมิติของประชาชน และภาคธุรกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งหมดเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการผ่านทั้งจากมาตรการด้านการคลัง และมาตรการด้านการเงินที่ต้องสอดประสานกันในการทำหน้าที่ผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น" รมช.คลัง กล่าว

พร้อมเชื่อว่า มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ถึง 3% โดยยืนยันว่า รัฐบาลจะทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นกลไกให้ทุกส่วนมีส่วนช่วยในการผลักดันเศรษฐกิจ และปัจจุบันมีมาตรการที่ออกมาบางส่วนแต่ยังไม่มีผล เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของออมสิน วงเงิน 100,000 ล้านบาท และจะมีมาตรการสินเชื่อต่าง ๆ ที่จะออกมาอย่างต่อเนื่อง มาตรการภาษีที่จะเข้าไปดูแลและดึงดูดการลงทุน" นายเผ่าภูมิ กล่าว

*ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 67

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงที่เหลือของปี 2567 ได้แก่

1) การใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งรายจ่ายลงทุนที่ต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายในทุกหน่วยงาน

2) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ประเทศ โดยเฉพาะในช่วง High Season

3) การเร่งรัดการลงทุนของโครงการลงทุนที่ได้รับการอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว ซึ่งสอดรับกับวิสัยทัศน์ 8 ด้านภายใต้กรอบนโยบาย Ignite Thailand ของรัฐบาล โดยการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางในหลาย ๆ ด้าน ด้วยการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

โดยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 กระทรวงการคลังได้จัดโครงการศูนย์กลางการเงิน (Financial Hub) ภายใต้หัวข้อ Ignite Finance: Thailand?s Vision for a Global Financial Hub เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการเงินโลก ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป การสนับสนุนประเด็นที่สำคัญเหล่านี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคง ก้าวสู่การเป็นผู้นำในเวทีระดับภูมิภาคในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ยังควรติดตามปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด อาทิ

1) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นข้อจำกัดและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป เช่น สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลและอิหร่านที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้น การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา และความกังวลเรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้เกี่ยวกับ การอ้างกรรมสิทธิ์หลังมีการซ้อมรบของกองทัพเรือจีนและรัสเซียในบริเวณดังกล่าว

2) ความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลักและปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป

3) ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาและทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่

4) การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเฉพาะประเทศจีนจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์

5) ปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่จะบั่นทอนการใช้จ่ายในระยะต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ