BAY มองกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 35.80-36.35 จับตาประชุม BOJ-FED

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 30, 2024 11:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประเมินทิศทางเงินบาทในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 35.80-36.35 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทปิดแข็งค่าที่ 36.06 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 36.04-36.32 บาท/ดอลลาร์ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ยกเว้นเงินเยนและฟรังก์สวิส โดยเงินเยนแข็งค่าอย่างรวดเร็วสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือนครึ่งท่ามกลางภาวะหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ดิ่งลง อีกทั้งนักลงทุนรอดูผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ทางด้านสหรัฐฯ รายงานจีดีพีไตรมาส 2 เติบโต 2.8% ซึ่งสูงกว่าไตรมาสแรกและการคาดการณ์ของตลาด ขณะที่ดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐานเพิ่มขึ้น 2.9% ในไตรมาส 2 ชะลอลงจาก 3.7% ในไตรมาสแรก นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 86 ล้านบาท และ 20,442 ล้านบาท ตามลำดับ

สถานการณ์ตลาดในสัปดาห์นี้นักลงทุนจะติดตามการประชุมบีโอเจวันที่ 30-31 ก.ค. ซึ่งเราคาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 15bp จากระดับ 0-0.10% ต่างจากการมุมมองทั่วไปของตลาด โดยประเมินว่าบีโอเจจะประกาศลดการเข้าซื้อพันธบัตร แต่หากท่าทีของบีโอเจแข็งกร้าวน้อยกว่าคาด เงินเยนจะเผชิญแรงขายทำกำไรรอบใหม่

ขณะที่การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) วันที่ 31 ก.ค.- 1 ส.ค. มีแนวโน้มที่จะปรับจุดยืนเพื่อปูทางไปสู่การลดดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. แม้จีดีพีไตรมาส 2 ของสหรัฐฯแข็งแกร่งเกินคาดแต่เรามองว่าทิศทางหลักยังบ่งชี้ว่าแรงส่งเชิงบวกของกิจกรรมทางเศรษฐกิจกำลังแผ่วลง อย่างไรก็ดี คาดว่าการซื้อขายอาจเป็นไปอย่างผันผวนขณะตลาดปรับสถานะตามโทนการสื่อสารของเฟดและตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ค.ของสหรัฐฯ ท้ายสัปดาห์

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีไทยปี 67 เป็นขยายตัว 2.7% จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 2.4% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการภาคการท่องเที่ยว การส่งออก และการบริโภคภายใน โดยประมาณการนี้ยังไม่รวมผลที่คาดว่าจะได้รับจาก Digital Wallet ซึ่งกระทรวงการคลังประมาณในเบื้องต้นว่าโครงการดังกล่าวจะส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัว 1.2-1.8% ตลอดทั้งโครงการ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์รายงานยอดส่งออกเดือนมิ.ย.ลดลง 0.3% y-o-y เนื่องจากสินค้าผลไม้เข้าสู่ช่วงท้ายฤดูกาล ขณะที่บรรยากาศการค้าโลกเริ่มสะท้อนความกังวลต่อแนวโน้มมาตรการกีดกันทางการค้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ