นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย มีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน โดยคาดว่า ในปี 67 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีโอกาสขึ้นไปแตะระดับ 36.5 ล้านคน และในปี 68 มีโอกาสเข้าสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิดที่ 40 ล้านคน
อย่างไรก็ดี แม้นักท่องเที่ยวจีนจะฟื้นตัวได้ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดที่ระดับ 65-90% แต่ยังได้รับแรงสนับสนุนจากการเติบโตของนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักอย่างมาเลเซีย อินเดีย รัสเซีย และเกาหลีใต้ รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรป และตะวันออกกลาง ส่งผลให้รายได้รวมจากการท่องเที่ยวในปี 67-68 มีมูลค่าราว 2.65-3 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ แม้รายได้จะยังกระจุกตัวอยู่ในเมืองท่องเที่ยวหลัก แต่การกระจายรายได้สู่จังหวัดเมืองรองเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 67 มีสัดส่วนราว 13.4% ของรายได้จากภาคการท่องเที่ยวโดยรวม ปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิด ที่มีสัดส่วนเพียง 9.2%
โดยเมืองรองยอดฮิต 5 อันดับแรก คือ สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม เชียงราย จันทบุรี และอุดรธานี มีจำนวนนักท่องเที่ยวฟื้นตัวได้สูงกว่าช่วงก่อนโควิดที่ระดับ 130-343% สะท้อนให้เห็นว่านักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างชาติมีความสนใจที่จะเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดเมืองรองมากขึ้น
"การสำรวจสถานการณ์การท่องเที่ยวที่พบว่า นักท่องเที่ยวไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีพฤติกรรมในการท่องเที่ยวเมืองรองมากขึ้นนั้น เป็นการสำรวจก่อนที่นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองของภาครัฐจะออกมาในเดือนพ.ค. ซึ่งหลังจากนี้ต้องรอติดตามตัวเลขว่า การท่องเที่ยวเมืองรองตลอดทั้งปีจะเป็นอย่างไร" นายพชรพจน์ กล่าว
นายธนา ตุลยกิจวัตร นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงก่อนโควิด-19 ที่เน้นท่องเที่ยวแบบ Mass Tourism ไปสู่การท่องเที่ยวแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ผนวกรวมกับนโยบายด้าน Soft Power ที่ภาครัฐพยายามผลักดันอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านอาหารไทย และการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เกิดเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวยุคใหม่ ที่มีโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคการท่องเที่ยวไทยได้กว่า 1.35 แสนล้านบาท ประกอบด้วย
1. การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) โดยเฉพาะ Street Food ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นถึง 18.1% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19
โดย Future Market Insights คาดการณ์มูลค่าตลาด Gastronomy Tourism ของไทยจะสามารถขึ้นไปแตะ 62.7 แสนล้านบาท ได้ในปี 77
2. การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Cultural Tourism) จากผลสำรวจของ ททท. พบว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสำคัญกับความหลากหลายของศิลปวัฒนธรรม (41.8%) และความน่าสนใจของวัฒนธรรมท้องถิ่น (37.9%) ในการตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นจุดมุ่งหมายท่องเที่ยว เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวชาวไทย ที่ส่วนใหญ่บอกว่ากิจกรรมด้านประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมเป็นหมวดกิจกรรมที่ทุกช่วงวัยสนใจ และเคยเข้าร่วมบ่อยที่สุด สำหรับตัวอย่างการนำแนวคิด "Festival" มาใช้ เช่น การจัดงาน Maha Songkran World Water Festival 2024 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงานกว่า 7.8 แสนคน สร้างรายได้มากถึง 2,880 ล้านบาท
3. การท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือมิวสิกวิดีโอ (Film Tourism) ข้อมูลจาก Expedia เผยว่า นักเดินทางมากกว่าครึ่งได้ค้นหาข้อมูลหรือจองทริป หลังจากดูรายการทีวี หรือภาพยนตร์ และ 1 ใน 4 ยอมรับว่า ภาพยนตร์ และรายการทีวีมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว
ตัวอย่างการท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์ ซีรีส์ มิวสิกวิดีโอ เช่น ละครเรื่อง "บุพเพสันนิวาส" ที่ส่งแรงกระเพื่อมต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย หลังจากที่ละครออกอากาศไป มีนักท่องเที่ยวสนใจเยี่ยมชมสถานที่ถ่ายทำต่าง ๆ จำนวนมาก เช่น วัดไชยวัฒนาราม มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง 3-4 เท่าตัว และล่าสุดหลังจากที่มีการปล่อย MV เพลง "ROCKSTAR" ของลิซ่า ทำให้มีนักท่องเที่ยวรู้จัก สนใจ และตามไปถ่ายรูปเช็กอินที่ถนนเยาวราชจำนวนมาก
4. การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (Sustainable Tourism) อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8-11% ของก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่บรรยากาศโลก โดยการเดินทางเป็นกิจกรรมที่ปล่อยคาร์บอนฯ มากที่สุด 49% ตามมาด้วยการซื้อสินค้า/ชอปปิง อาหารและเครื่องดื่ม ภาคบริการ และที่พัก โดยจากผลสำรวจโดย Booking.com พบว่า 3 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวยุคใหม่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวแบบอย่างยั่งยืนในอีก 12 เดือนข้างหน้า
5. กลุ่ม Digital Nomad Tourism เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพที่เติบโตขึ้นตามกระแส "Workcation" รูปแบบการทำงานในโลกยุคใหม่ที่มีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนที่สูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปเกือบเท่าตัว
6. การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เทรนด์การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ อาจเป็นโอกาสสำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ได้แก่ การก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุของไทยและทั่วโลก, ค่าใช้จ่ายต่อหัวที่สูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปราว 41-175% และไทยเป็นหมุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอันดับที่ 15 ของโลก และอันดับที่ 4 ของเอเชีย
อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม ดังนี้
- จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ในระยะ 1-2 ปี ข้างหน้า รวมถึงยังต้องจับตาประเด็นเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย เนื่องจากเป็นเรื่องที่ชาวจีนยังมีความกังวลค่อนข้างมาก
- ต้นทุนของภาคธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น จะกดดันความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการ และส่งผลให้ต้นทุนในการเดินทางท่องเที่ยวโดยรวมเพิ่มสูง โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท อาจกระทบต่อธุรกิจโรงแรม และร้านอาหารที่มีสัดส่วนต้นทุนแรงงานสูงถึง 15-30%
- ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะสงครามระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน ที่อาจกระทบต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยวกลุ่มตะวันออกกลาง ที่มีรายจ่ายต่อหัวในระดับสูง รวมถึงนักท่องเที่ยวตลาดระยะไกล เช่น กลุ่มยุโรป และอเมริกา
น.ส.วีระยา ทองเสือ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า สำหรับธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์จากการกลับมาของนักท่องเที่ยว แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
1. ธุรกิจที่จะได้รับอานิสงส์ในระยะแรก (1st Wave) คือ
- ธุรกิจโรงแรม เป็นธุรกิจแรก ๆ ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว โดยเฉพาะโรงแรมที่ตั้งอยู่ในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก เช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต ทั้งนี้ โรงแรมระดับ 4-5 ดาว มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีกว่าโรงแรมทั่วไป
- ธุรกิจสายการบิน โดย บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ประเมินว่า ในปี 72 จะมีจำนวนผู้โดยสารสูงถึง 170 ล้านคน และในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือปี 277 จำนวนผู้โดยสารอาจแตะระดับ 210 ล้านคน ส่งผลให้ธุรกิจสายการบินยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้อีกมาก
- ธุรกิจร้านอาหาร โดยอาหารกลุ่ม Street Food, Local Food, Fine Dining Thai Cuisine รวมถึงร้านอาหารประเภท Cafe ยังคงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องตามคาดการณ์ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ที่ประเมินว่า ตลาดบริการอาหารของไทยในปี 66-71 จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.72%
2. ธุรกิจที่จะได้รับอานิสงส์ในระยะถัดไป (2nd Wave) คือ
- ธุรกิจค้าปลีก ได้รับอานิสงส์จากการใช้จ่ายในการซื้อสินค้าของนักท่องเที่ยวต่างชาติมีสัดส่วนกว่า 18.4% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยสินค้ายอดนิยม 3 อันดับแรกที่นักท่องเที่ยวซื้อเป็นของฝากของที่ระลึก ได้แก่ เสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์อาหารไทย และของที่ระลึก ตามลำดับ และมีการใช้จ่ายเฉลี่ยสูงถึง 2,621-5 331 บาท/คน/ทริป
- ธุรกิจ Healthcare เป็นหนึ่งในธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และแนวโน้มการเติบโตของ Wellness Tourism สะท้อนจากสัดส่วนรายได้จากผู้ป่วยชาวต่างชาติ และรายได้ในธุรกิจ Wellness ของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรปรับตัวเพื่อคว้าโอกาสจากเทรนด์การท่องเที่ยวยุคใหม่ ดังนี้
- ปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น ธุรกิจโรงแรมปรับปรุงที่พักให้สอดรับมาตรฐาน Green Hotel หรือเข้าร่วมโครงการ Sustainable Tourism Acceleration Rating (STAR) เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวสายรักษ์ธรรมชาติ
- นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เช่น ธุรกิจร้านอาหาร อาจนำหุ่นยนต์อัตโนมัติเข้ามาช่วยเสิร์ฟอาหาร เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน
นอกจากนี้ เสนอให้ภาครัฐพิจารณาแนวนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยควรให้ความสำคัญในประเด็น ดังนี้
- เจาะตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มศักยภาพสูง โดยอาจเพิ่มทางเลือกในส่วนของประกันสุขภาพให้กับกลุ่ม Digital Nomad ที่มาขอ Destination Thailand Visa Revealed (DTV)
- ผลักดันให้เกิดกระแสการเดินทางเที่ยวตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในเมืองรอง โดยเชื่อมโยงกับกลุ่ม Wellness Tourism ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงวัยที่สามารถท่องเที่ยวในวันธรรมดาได้
- เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ รวมถึงสร้างระบบด้านความปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวไทยมากขึ้น