KTB จับตาเลือกตั้งสหรัฐฯ กระทบสงครามการค้า-เศรษฐกิจโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 30, 2024 15:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า KTB คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 67 ไว้ที่ 2.3% แม้จะมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1. การบริโภคในประเทศ ที่แม้ว่าจะมีข้อจำกัดมากขึ้นจากหนี้ครัวเรือนที่สูง แต่มองว่ายังมีความเป็นไปได้ และ 2. การลงทุน ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตจากการลงทุนของบริษัทขนาดใหญ่ ที่จำเป็นต้องลงทุนเพื่อให้สอดคล้องกับสังคมคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนจากต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คือภาคการส่งออก ที่คาดว่าจะโตได้ประมาณ 0.5% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศในแถบอาเซียน จาก 2 ปัจจัยหลัก ดังนี้

1. สงครามความขัดแย้งทั้งในตะวันออกกลาง และรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในภาพรวม โดยเฉพาะเศรษฐกิจของยุโรป ซึ่งส่งผลให้ราคาพลังงานสูง

2. สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ซึ่งเริ่มบานปลายไปยังประเทศอื่น ๆ ที่เริ่มตั้งกำแพงภาษีสินค้าจีน ทำให้หลายประเทศกังวลมาตรการภาษีที่อาจเพิ่มมากขึ้น บรรยากาศทางการค้าด้อยลง และในช่วงปลายปีอาจมีภาษีที่แพงขึ้น ทำให้จีนมีการเร่งส่งออกสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม ส่งผลให้ค่าขนส่งทางเรือมีราคาแพงขึ้น และยังส่งผลกระทบต่อไทยโดยเฉพาะสินค้ารถยนต์

นอกจากนี้ ยังต้องจับตาการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนตัวแคนดิเดตประธานาธิบดี ซึ่งทำให้นโยบายไม่ชัดเจน และนำไปสู่การคาดการณ์หลากหลายฉากทัศน์ โดยมีไม่น้อยที่มองว่า มีโอกาสที่การแข่งขันเชิงนโยบายของสหรัฐฯ จะนำไปสู่ความไม่แน่นอนของการค้าการลงทุนต่างประเทศ

สำหรับการประมาณการเศรษฐกิจของปีนี้ที่ 2.3% ยังไม่รวมผลของโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งนักวิเคราะห์ใช้การคาดการณ์ตามที่รัฐบาลเคยประกาศไว้ว่า ผลของโครงการจะส่งผลต่อเศรษฐกิจประมาณ 1.5-1.8% ซึ่งหากมีระเวลาดำเนินโครงการ 6 เดือน และหากสามารถเริ่มโครงการได้ในปี 67 ระยะเวลา 1 เดือน จะส่งผลต่อ GDP ประมาณ 0.2-0.3% ต่อเดือน

ส่วนนโยบายการเงินของไทย มองว่าในช่วงปลายปีนี้ เศรษฐกิจไทยที่ค่อนข้างชะลอตัว เงินเฟ้อต่ำ ซึ่งถ้ามีการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินก็อาจมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้บ้าง อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าจะมีมองปัจจัยรอบข้างอย่างไร ทั้งนี้ หากมองเชิงแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือแนวโน้มอุปสงค์ในประเทศ ก็มีปัจจัยสนับสนุนที่อาจมองถึงการผ่อนคลายด้านนโยบายเพิ่มขึ้นได้

ในส่วนของค่าเงินบาทที่ผันผวน มองว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากค่าเงินบาทค่อนข้างอ่อนค่า ซึ่งเป็นผลดีกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ