นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบการปรับเงื่อนไขกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (ThaiESG) จากนี้จะส่งให้ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างอีกครั้ง โดยปรับวงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุดจากเดิม 1 แสนบาท เพิ่มเป็น 3 แสนบาท ลดระยะเวลาลงทุนเหลือ 5 ปี เพื่อเร่งเครื่องกระตุ้นตลาดทุน
นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการในการปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยเป็นการปรับปรุงการให้สิทธิประโยชน์ในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund หรือ TESG) ที่สำคัญ ดังนี้
1. ขยายวงเงินการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนจาก 100,000 บาทต่อปีภาษี เป็น 300,000 บาทต่อปีภาษี ในอัตราไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน
2. ลดเวลาถือครองหน่วยลงทุน เหลือไม่น้อยกว่า 5 ปี (จากเดิมต้องถือครองหน่วยลงทุนเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 8 ปี) สำหรับหน่วยลงทุนที่ซื้อตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.67 ถึง 31 ธ.ค.69
3. กำหนดให้ไม่ต้องนำเงินหรือผลประโยชน์ใด ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุน คืนให้แก่ TESG มารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ต้องถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน)
4. วงเงินลงทุนของ Thai ESG จะไม่ถูกนับรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ ได้แก่ กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว, กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่ปัจจุบันกำหนดเพดานลดหย่อนภาษีรวมกันได้ไม่เกิน 500,000 บาท
กรณีผู้มีเงินได้ซื้อกองทุน TESG ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.67 ถึงวันก่อนวันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับ ผู้มีเงินได้ดังกล่าว ได้รับสิทธิหักค่าลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในอัตรา 30% ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท และได้รับลดเวลาถือครองหน่วยลงทุนเหลือเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนด้วย (ส่วนกรณีที่ซื้อกองทุน TESG ก่อนวันที่ 1 ม.ค.67 และกรณีซื้อกองทุน TESG ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.70 เป็นต้นไป ผู้ซื้อกองทุนจะได้รับสิทธิหักค่าลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในอัตรา 30% ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท เมื่อถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 8 ปี นับแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน)
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้รายงานประมาณการการสูญเสียรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพิ่มอีกปีละประมาณ 13,000-14,000 ล้านบาท (ตามมาตรการเดิม คาดว่าจะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีแรกประมาณ 3,000 ล้านบาท และในปีถัดถัดไปปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท)
แต่ขณะเดียวกัน มีประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ คือ
1. เพิ่มการลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนกิจการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล
2. ส่งผลให้การลงทุนระยะยาวในตลาดทุนไทยเพิ่มขึ้น อันจะเป็นการเพิ่มศักยภาพของตลาดทุนไทย และสร้างบรรยากาศที่ดีในการลงทุน
3. ทำให้ผู้มีเงินได้เพิ่มจำนวนเงินในการออม และการลงทุนระยะยาว อันจะทำให้ผลตอบแทนโดยรวมจากการออมและการลงทุนเพิ่มขึ้นด้วย
อย่างไรก็ดี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเห็นเพิ่มเติม เช่น เห็นควรที่กระทรวงการคลัง จะติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์และรายงานรายงานผลการดำเนินงานตามมาตรการภาษีในครั้งนี้ เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการ และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี เพื่อชดเชยการสูญเสียรายได้ที่เกิดขึ้น กระทรวงการคลัง ต้องหาแนวทางการเพิ่มรายได้ภาษี เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปตามเป้าหมาย และเพื่อป้องกันความเสี่ยงทางด้านการคลังในอนาคตต่อไปด้วย
https://youtu.be/wHgLNvW9D9U