ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มองว่า ในปี 2567การเดินทางไปต่างประเทศของชาวจีนโดยภาพรวมมีสัญญาณฟื้นตัวที่ดี โดยไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางหลักของการท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวจีน และนักท่องเที่ยวจีนเองก็กลับมาครองตำแหน่งนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยสูงสุดเช่นเดียวกัน
แต่แนวโน้มการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงในหลายด้าน ทั้งจากฝั่งจีนในด้านเศรษฐกิจ ด้านอสังหาริมทรัพย์และด้านภูมิรัฐศาสตร์ และจากการแข่งขันจากประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเวียดนาม
SCB EIC คาดว่า นักท่องเที่ยวจีนจะฟื้นตัวต่อเนื่องอย่างน้อย 7 ล้านคนในปี 67 โดยกลุ่มที่เดินทางด้วยตัวเองจะฟื้นตัวได้เร็วกว่ากลุ่มกรุ๊ปทัวร์ โดยสาเหตุที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนฟื้นตัวค่อนข้างช้า ส่วนหนึ่งมาจากการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของกลุ่มกรุ๊ปทัวร์ ซึ่งที่ผ่านมานักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้าไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เดินทางด้วยตัวเอง (FIT) ถึง 86% ขณะที่กลุ่มกรุ๊ปทัวร์กลับอยู่ที่เพียง 14% จากสัดส่วนที่เคยอยู่ที่ 60% ต่อ 40% ในปี 62 โดยปริมาณนักท่องเที่ยวกลุ่ม FIT คาดว่าจะกลับมาใกล้เคียงกับปี 62 ได้ในปี 68
ขณะที่ปริมาณกลุ่มกรุ๊ปทัวร์จะเป็นกลุ่มที่ยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ซึ่งคาดว่านักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่จะกลับมาใกล้เคียงปี 62 ได้หลังปี 68 โดยปัจจุบันกลุ่มกรุ๊ปทัวร์นิยมเลือกทัวร์ที่สามารถปรับแผนเที่ยวตามความสนใจได้ (Tailor-made) ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีรายได้ค่อนข้างดี และจะเป็นตัวช่วยเร่งการฟื้นตัวของกลุ่มกรุ๊ปทัวร์ ขณะที่การฟื้นตัวของกลุ่มกรุ๊ปทัวร์ขนาดใหญ่รูปแบบเดิม จะยังคงค่อย ๆ ทยอยฟื้นตัว
ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยในช่วงต้นปี 67 ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 25-44 ปีจากเมืองเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง กว่างโจว และเฉิงตูเป็นหลัก โดยแผนการเที่ยวที่นิยม คือ กรุงเทพ + 1 จังหวัด เช่น พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ แล้วใช้เวลาเที่ยวไทยเฉลี่ยราว 7-8 วันใกล้เคียงกับในช่วงปี 62 แต่จะใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในด้านที่พัก และเน้นท่องเที่ยวเพื่อซื้อประสบการณ์มากขึ้นจากกิจกรรมเพื่อความบันเทิงและชิมอาหารแทนการช้อปปิ้ง
SCB EIC วิเคราะห์ 6 เทรนด์ตลาดท่องเที่ยวที่ชาวจีนให้ความสนใจ และจะเป็นโอกาสแก่ภาคการท่องเที่ยวไทย คือ
1. นักท่องเที่ยวสายคอนเทนต์เข้าถึงความเป็น Local (Content tourism)
2. นักท่องเที่ยวสายเที่ยวตามแรงบันดาลใจ (Set-jetting tourism) และสายกิจกรรม (Event tourism)
3. นักท่องเที่ยวสายชิม (Gastronomy tourism)
4. นักท่องเที่ยวสายรักสุขภาพ (Medical and Wellness tourism)
5. นักท่องเที่ยวสายชอบการเรียนรู้ (Summer camp)
6. นักท่องเที่ยวสายมูเตลู (Mutelu tourism)
ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยวไทย จะต้องเร่งพัฒนาสินค้า หรือบริการให้โดดเด่น และตรงความต้องการของนักท่องเที่ยวจีนในแต่ละสาย ควบคู่ไปกับการโปรโมตผ่านสื่อโซเชียลของจีน เพื่อให้เข้าถึงชาวจีนในวงกว้าง
ขณะที่การปรับตัวของธุรกิจภาคการท่องเที่ยวเพียงบางส่วน และความคาดหวังที่นักท่องเที่ยวจีนรูปแบบเดิมจะกลับมา อาจจะทำให้เสียโอกาสในตลาดใหม่ ๆ พร้อมทั้งเปิดทางให้ผู้เล่นรายใหม่ ที่เสนอบริการที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวยุคใหม่ได้มากกว่าเข้ามาในตลาด
ดังนั้น ทุกธุรกิจใน Value chain ของการรับนักท่องเที่ยวชาวจีนมาไทย จึงจำเป็นต้องปรับตัวตั้งแต่โรงแรม สายการบิน บริษัททัวร์ในไทย ไปจนถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น
- ธุรกิจโรงแรมควรนำเสนอบริการที่มากกว่าการเข้าพักธรรมดาและแสดงเอกลักษณ์ที่โดดเด่น
- สายการบินสัญชาติไทยเน้นขยายเที่ยวบิน พร้อมทั้งเสนอบริการพรีเมียมรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่ม FIT และทัวร์ Tailor-made
- สถานที่ท่องเที่ยวอาจเสนอประสบการณ์พิเศษ เพื่อดึงให้นักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวซ้ำ
- บริษัททัวร์ในไทยต้องปรับตัวจากทัวร์รูปแบบเดิมเป็นทัวร์ที่หลากหลาย และตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะมากขึ้น
- บริษัทรถทัวร์หรือรถเช่าต้องเพิ่มบริการเฉพาะสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่ม FIT และทัวร์กรุ๊ปเล็ก
- ร้านอาหารต้องเตรียมรองรับระบบการชำระเงินของจีน และจับกลุ่มลูกค้า Food delivery ชาวจีนมากขึ้น
- ร้านค้าควรพัฒนาสินค้าสร้างสรรค์ที่ใส่ความเป็นไทย และเพิ่มความคุ้มค่า
SCB EIC มองว่า การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ยังสร้างความท้าทายต่อภาคธุรกิจ และภาครัฐของไทยในหลายด้าน ดังนี้
1. การเข้ามาของธุรกิจท่องเที่ยวจีนเบียดธุรกิจรายย่อยไทย จากกลุ่มนายทุนจีนที่เริ่มเข้ามาลงทุนในไทยแทนการใช้บริษัททัวร์ไทย ทั้งในรูปแบบของการร่วมทุนกับบริษัททัวร์ไทย และการตั้งบริษัททัวร์ในไทยเอง
2. การแข่งขันเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ด้วยเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมายสำคัญของหลายประเทศ ซึ่งภาครัฐและภาคธุรกิจต้องร่วมมือกันโปรโมตการท่องเที่ยวไทยในทุกช่องทาง เพื่อให้การท่องเที่ยวไทยเป็นกระแสในจีนอย่างต่อเนื่อง
3. ความอ่อนไหวต่อข่าวเชิงลบของชาวจีนมีผลต่อภาพลักษณ์ของไทย ซึ่งการตั้งคณะทำงานกลางที่ประกอบด้วยภาครัฐหลายภาคส่วน เพื่อรองรับและแก้ไขไวรัลบนโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นระบบ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่น และส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยได้เป็นอย่างดี
4. การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานจะสามารถกระจายนักท่องเที่ยวสู่เมืองรองได้ ทั้งด้านการคมนาคมขนส่งที่เชื่อมต่อเมืองหลักไปเมืองรอง และการเตรียมความพร้อมให้กับธุรกิจท่องเที่ยวในท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการโปรโมตการท่องเที่ยวเมืองรองแก่นักท่องเที่ยวจีนผ่านแพลตฟอร์ม OTAs ของจีน
5. การกำหนดราคามาตรฐาน การดูแลไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ซึ่งจะสร้างความสบายใจ ความปลอดภัย และคลายความกังวลแก่นักท่องเที่ยวในการเดินทางมาไทย อีกทั้งยังสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่การท่องเที่ยวไทยได้อีกด้วย