ดัชนีเชื่อมั่นธุรกิจ ก.ค.วูบตามกำลังซื้อ ภาคผลิตชะลอ-สินค้าจีนตีตลาด-ยอดขายรถหด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 1, 2024 16:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจโดยรวม เดือนกรกฎาคม 2567 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 46.9 จาก 48.7 ในเดือนก่อน ตามการลดลงด้านคำสั่งซื้อ การผลิต และผลประกอบการเป็นสำคัญ สำหรับความเชื่อมั่นในภาคการผลิต ปรับลดลงในเกือบทุกหมวดธุรกิจ นำโดยกลุ่มยางและพลาสติก ที่คำสั่งซื้อและการผลิตปรับลดลง หลังจากที่เร่งขึ้นในช่วงก่อน

ขณะที่ความเชื่อมั่นของกลุ่มเคมีภัณฑ์ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ จากแรงกดดันจากสินค้าจีนในกลุ่ม Mass ที่เข้ามาแข่งขันในตลาดอย่างต่อเนื่อง และความเชื่อมั่นของกลุ่มผลิตยานยนต์ลดลงจากยอดขายยานยนต์ในประเทศที่ลดลง ส่วนหนึ่งจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ด้อยลง ทำให้สถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น และอีกส่วนหนึ่งจากการแข่งขันกับยานยนต์ไฟฟ้าที่รุนแรงขึ้น

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคที่มิใช่การผลิต ทรงตัวตามความเชื่อมั่นของกลุ่มโรงแรม และร้านอาหาร ที่ดีขึ้นจากด้านบริการ ผลประกอบการ และคำสั่งซื้อ ขณะที่ความเชื่อมั่นในกลุ่มอสังหาฯ ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีก่อนจากยอดขายที่หดตัว ส่งผลให้ผู้พัฒนาอสังหาฯ ชะลอการเปิดโครงการใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังความเชื่อมั่นของกลุ่มก่อสร้างให้ปรับดีขึ้นไม่มากนัก แม้ว่าจะได้รับผลดีจากงานก่อสร้างภาครัฐที่เพิ่มขึ้น หลังจากงบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้

ขณะที่ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นปรับลดลงมาอยู่ที่ 50.1 จากเกือบทุกองค์ประกอบ นำโดยด้านคำสั่งซื้อ ผลประกอบการ และการผลิต

สำหรับความเชื่อมั่นในภาคการผลิต ปรับลดลงจากหลายหมวดธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มผลิตยานยนต์ และเหล็ก ที่ดัชนีฯ ปรับลดลงมาอยู่ต่ำกว่า 50 สะท้อนความเชื่อมั่นที่แย่ลงเมื่อเทียบกับปัจจุบัน โดยในกลุ่มผลิตยานยนต์ดัชนีฯ ปรับลดลงในทุกองค์ประกอบ ขณะที่กลุ่มผลิตเหล็กดัชนีฯ ปรับลดลงจากด้านการผลิต และคำสั่งซื้อเป็นหลัก

ความเชื่อมั่นในภาคที่มิใช่การผลิต ปรับลดลงเกือบทุกหมวดธุรกิจ นำโดยกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ที่ความเชื่อมั่นปรับลดลงมาก คาดว่าเป็นผลจากความกังวลด้านรายได้ และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่กดดันกำลังซื้อของลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าที่ซื้อที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท สอดคล้องกับกลุ่มค้าปลีกที่ความเชื่อมั่นปรับลดลงจากการค้าในหมวดยานยนต์ และสินค้าอุปโภคบริโภค เนื่องจากผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ