"อนุสรณ์"ชี้สงครามอิสราเอลฮามาสดันราคาน้ำมันสูงกดดันกองทุนน้ำมันหนี้ท่วม เร่งรัฐลงทุนพลังงานสะอาด

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday August 4, 2024 17:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสอาจขยายวงมากกว่าเดิมหลังจากมีปฏิบัติการลอบสังหารผู้นำฮามาส "อิสมาอิล ฮานิเยห์" ในกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ตามมาด้วยการส่งกองเรือรบของสหรัฐอเมริกาเข้าสู่ภูมิภาค การเจรจาหยุดยิงในฉนวนกาซาชะงัก ความขัดแย้งอาจไม่ลุกลามมากถึงขั้นเปลี่ยนจากสงครามตัวแทนผ่าน กลุ่มกองกำลังที่ไม่ใช่รัฐ (Non-State Militant Groups) ไปเป็นสงครามระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลโดยตรง

อย่างไรก็ตาม พัฒนาการที่ทำให้เกิดความเสี่ยงของสงครามขยายวงและทำให้เกิดพัฒนาการของความไม่สงบ ความรุนแรงและการก่อการร้ายจะเกิดมากยิ่งขึ้น หากพัฒนาการของสงครามส่งผลต่อการผลิตและการส่งออกน้ำมันจากภูมิภาคนี้ จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง อัตราเงินเฟ้อสูงอาจกลับมาพร้อมกับมาตรการเข้มงวดทางการเงินในประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำบางประเทศ คาดว่า ราคาน้ำมันและพลังงานจะปรับตัวสูงขึ้นและทรงตัวในระดับสูงต่อไป

มีปัจจัยบวกเล็กน้อย คือ อิหร่านได้ผู้นำคนใหม่สายปฏิรูป "มาซูด เปเซชเคียน" เป็นประธานาธิบดีที่มีแนวโน้มความเป็นมิตรกับชาติตะวันตก ความเคลื่อนไหวของราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นจะถูกจำกัดโดยความวิตกกังวลการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และอุปสงค์ต่อน้ำมันของจีน

กรณีของไทย ต้นเดือนพ.ย.2567 นี้ กองทุนน้ำมันฯ จะถึงกำหนดเวลาทยอยจ่ายคืนเงินต้นให้สถาบันการเงิน ที่กองทุนน้ำมันกู้มาเพื่อนำมารักษาเสถียรภาพราคาเชื้อเพลิงในประเทศก้อนแรกกว่า 1,000 ล้านบาท จากเดิมที่จ่ายแต่ดอกเบี้ยเฉลี่ยประมาณ 150-200 ล้านบาท จากวงเงินกู้รวมทั้งสิ้น 105,333 ล้านบาท

ปัจจุบันกองทุนน้ำมันยังชดเชยน้ำมันดีเซลเฉลี่ยอยู่ที่ 40 สตางค์ต่อลิตร คิดเป็นรายจ่ายประมาณวันละ 26.73 ล้านบาท หรือเดือนละประมาณ 829 ล้านบาท เพื่อตรึงราคาขายปลีกดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตรออกไปอีก 3 เดือน จนถึงสิ้นเดือนต.ค.2567 กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาอุดหนุนราคาน้ำมัน โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลที่มีการใช้ในสัดส่วนกว่า 70 ล้านลิตรต่อวัน หรือเฉลี่ยกว่า 70% ของปริมาณน้ำมันทั้งหมดในประเทศ

กองทุนน้ำมันในประเทศอาจไม่สามารถชดเชยแทรกแซงราคาได้เช่นเดิม เนื่องจากอาจเริ่มมีปัญหาสภาพคล่องจากกองทุนติดลบเกินแสนล้านบาท สาธารณชนจำเป็นต้องรับสภาพความเป็นจริงยอมรับการขยับเพดานราคาแทรกแซงน้ำมันสูงขึ้น และ ต้องมีการใช้น้ำมันและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ควรมีมาตรการส่งเสริมการศึกษา วิจัย พัฒนาเทคโนโลยีอนุรักษ์พลังงานเชิงรุกการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงานเพิ่มขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลหน่วยงานกำกับตลาดทุน ธนาคารแห่งประเทศไทยและระบบธนาคารพาณิชย์ควรส่งเสริมให้ภาคธุรกิจภาคการผลิตอุตสาหกรรม ยึดถือแนวทาง ESG การดำเนินกิจการ การให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม(Environment) ลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยคาร์บอน, สังคม (Social), ธรรมาภิบาล (Governance) ESG จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีคุณภาพ มีความยั่งยืน รวมทั้งทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ดีขึ้น

"เราไม่ควรกระตุ้นการบริโภคต่างๆอย่างขาดความรับผิดชอบและไม่คำนึงถึงผลข้างเคียงระยะยาว การสนับสนุนการรณรงค์สร้างจิตสำนึกใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า และเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานครอบคลุมทุกภาคส่วน และครบทุกระดับ อย่างเป็นระบบและต่อเนื่องเป็น เรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในช่วงที่ราคาพลังงานอาจผันผวนมากที่สุดในรอบหลายปี"

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ภาครัฐต้องกำกับราคาเชื้อเพลิงในภาคขนส่งให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงส่งผลให้ผู้บริโภคตระหนักเรื่องราคาพลังงานและเปลี่ยนลักษณะการใช้พลังงาน ทำให้ความเข้มขันในการใช้พลังงานเทียบกับจีดีพีลดลง นอกจากนี้ขอสนับสนุนนโยบายของกระทรวงการคลังในการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่จัดเก็บตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งน้ำมันของประเทศ โดยพัฒนาระบบขนส่งน้ำมันทางท่อจะช่วยลดการใช้น้ำมันได้ประมาณ 40 ล้านลิตรต่อปีและขอสนับสนุนนโยบายและแผนงานของกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานการจราจรและขนส่งโดยเฉพาะการเปลี่ยนล้อเป็นราง ที่จะลดความต้องการใช้พลังงานขนส่งได้อีกมาก ศึกษา วางแผน และดำเนินการรองรับการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า จะลดความต้องการในการใช้พลังงานลง"พลังงานหมุนเวียน" และ "พลังงานสะอาด" จะมีความสำคัญมากขึ้น เรื่อย ๆ

ขอเสนอให้รัฐบาลนำมาตรการและนโยบาย Green New Deal มาใช้เริ่มต้นด้วยการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ทางด้านพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก การมีอากาศสะอาดสำหรับหายใจ การมีน้ำและอาหารสะอาดสำหรับดื่มกิน เป็นหลักประกันพื้นฐานที่ Thai Green New Deal ต้องทำให้เกิดขึ้น ข้อเสนอของตน เรื่อง Thai Green New Deal นี้ต้องให้หลักประกัน อากาศ น้ำ อาหารสะอาดปลอดภัยสำหรับคนไทยและเกิดความมั่นคงทางด้านพลังงานและอาหาร รวมทั้งให้มีเพียงพอสำหรับทุกคนในประเทศไทยนำเข้าพลังงานและน้ำมันจากตะวันออกกลางสัดส่วนมากกว่า 50-52%ของการนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวทั้งหมดของไทย

กลไกและเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในระยะสั้นมีขีดจำกัดมากขึ้น ทั้งภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และ กองทุนน้ำมัน ภาษีสรรพสามิตน้ำมันจะลดลงกว่าระดับที่เป็นอยู่นี้มากก็ไม่ได้แล้วเพราะจะเพิ่มความเสี่ยงฐานะทางการคลัง ส่วนกองทุนน้ำมันนับตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมติดลบประมาณ 65,000 ล้านบาท ขณะนี้ฐานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบทะลุ 100,000 ล้านบาทแล้ว การมีนโยบายให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องอุดหนุนราคาเพิ่มมากขึ้นด้วยระยะเวลาที่ยาวขึ้นอาจเริ่มมีขีดจำกัดมากขึ้น

การเร่งเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนและพลังงานชีวภาพอย่างยั่งยืนมีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องเดินหน้าลงทุนเพิ่มเติม รัฐบาลควรลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ควรเป็นหน้าที่ของรัฐเพื่อรองรับการขยายตัวของการลงทุนของภาคเอกชนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและพลังงานชีวภาพ

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ด้วยสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในย่านตะวันออกกลาง ประเทศไทยควรลดความเข้มการใช้พลังงาน (Energy Intensity - EI) ลงมากว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้เดิม ด้วยการเพิ่มงบประมาณในโครงการหรือกิจกรรมอนุรักษ์พลังงานประหยัดพลังงานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การลงทุนทางด้านดิจิทัลและการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) จะช่วยให้เกิดการลดการใช้พลังงานในกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกิจกรรมต่างๆ

แผนยุทธศาสตร์อนุรักษ์พลังงานระยะยาว พ.ศ. 2558-2579 กระทรวงพลังงานและรัฐบาลอาจต้องนำมาทบทวนใหม่เพราะสถานการณ์ความขัดแย้งทางการทหารในพื้นที่ตะวันออกกลางทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก แผนอนุรักษ์พลังงานอาจต้องบูรณาการกับอีก 4 แผนหลักของกระทรวงพลังงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้แก่ (1) แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (2) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (3)แผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติของไทย และ (4) แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนใหญ่โดยเฉพาะต้องเริ่มต้นด้วยการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลจะทบทวนการอุดหนุนราคาพลังงานเพื่อให้ผู้บริโภคและผู้ผลิตทั้งหลายต้องใช้พลังงานอย่างประหยัดและอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มาตรการช่วยเหลืออุดหนุนด้านการเงิน เพื่อเร่งให้มีการตัดสินใจลงทุนเปลี่ยนอุปกรณ์ เครื่องจักรการผลิตต่างๆ มาตรการอุดหนุนทางด้านการเงินนี้ต้องนำมาสู่การบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและตั้งเป้าลดความต้องการใช้พลังงานลงร้อยละ 10-30

ขอสนับสนุนการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพและปริมณฑลเหลือ 20 บาททั้งระบบโดยเร็วซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เริ่มต้นในบางเส้นทางแล้ว ควรต้องดำเนินการให้เร็วขึ้นอีกและขอให้รัฐบาลลงทุนระบบขนส่งมวลชนสาธารณะในต่างจังหวัดด้วยระบบขนส่งมวลชนที่ใช้พลังงานสะอาดและราคาถูกจะทำให้ สภาพแวดล้อมดีขึ้น บรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลงได้บ้าง ประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

นายอนุสรณ์ กล่าวถึงตัวเลขการลงทะเบียนดิจิทัล วอลเลต ทะลุ 21 ล้านคนภายใน 2 วันแรก ว่าประชาชนตอบรับต่อนโยบายดังกล่าว และ ตอกย้ำว่าประชาชนส่วนใหญ่ประสบความยากลำบากทางเศรษฐกิจ โครงสร้างเศรษฐกิจมีความเหลื่อมล้ำสูง คนส่วนใหญ่ของประเทศมีส่วนแบ่งรายได้ มีส่วนแบ่งในทรัพย์สินและความมั่งคั่งน้อยเกินไป สภาพ "รวยกระจุก จนกระจาย" จึงทำให้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงติดอันดับต้นๆของโลก แม้นขณะนี้จะลดลงมาบ้างแล้วก็ตาม

ปัญหาอุทกภัยหลายพื้นที่ซ้ำเติมความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจของประชาชน จำเป็นต้องลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อให้สามารถบริหารน้ำท่วมน้ำแล้งได้ดีขึ้น ไทยเผชิญภัยแล้งรุนแรงในช่วงมีนาคมเมษายนในปีนี้แล้วยังเจอกับภาวะน้ำท่วมรุนแรงในหลายพื้นที่ของประเทศในช่วงไตรมาสสาม เป็นการเปลี่ยนผ่านจาก "เอลนีโญ" สู่ "ลานีญา" ประเมินเบื้องต้น มูลค่าสินค้าเกษตร ทรัพย์สินต่างๆและเศรษฐกิจเสียหายประมาณ 56,000 ล้านบาท คิดเป็น 0.3% ของจีดีพี ส่งผลอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไม่เกิน 0.2-0.3% จาก อุปทานลดลงอย่างฉับพลัน (Supply Shock)

ทำให้ราคาสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มสูงขึ้น โดยข้าว และ อ้อย เป็นพืชเศรษฐกิจที่รับความเสียหายมากที่สุด ประเทศไทยจะเผชิญภัยแล้งสลับกับน้ำท่วมไปทุกปี ความเสียหายจะมากขึ้นตามลำดับ หากไม่มีรีบลงทุนการบริหารจัดการน้ำ การกักเก็บน้ำ และผลกระทบอุทกภัยต่อภาคเกษตรกรรมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นสูงกว่าผลกระทบจากภัยแล้ง

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า มาตรการบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจและบรรเทาภาระหนี้สินระยะสั้นจากเงินโอนดิจิทัลวอลเลตเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นแต่ไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต้องมีการแปลงเงินโอนจากรัฐสู่ประชาชนให้เป็น "การลงทุน"อย่างเป็นระบบโดยเฉพาะการลงทุนในทุนมนุษย์ และเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพและรายได้จึงตอบโจทย์ปัญหาทางเศรษฐกิจในระยะยาว

การพัฒนาทุนมนุษย์คือการลงทุนในประชาชนเพื่อให้เกิดความทัดเทียมกันในสังคมและเกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นในอนาคต การลงทุนในทุนมนุษย์โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นการลงทุนที่เกี่ยวกับเด็ก งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการลงทุนเหล่านี้มีผลตอบแทนที่สูงมาก มากเกินกว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนทางกายภาพ ในปัจจุบันประชากรในวัยทำงานของประเทศไทย (อายุระหว่าง 20-59 ปี) คิดเป็นร้อยละ 58.9 ของประชากรทั้งหมดแต่ภายในสองทศวรรษข้างหน้าประชากรกลุ่มนี้จะเหลือน้อยกว่าร้อยละ 50

เมื่อประชาชนส่วนใหญ่เริ่มมีอายุมากขึ้น ดังนั้นในปัจจุบันการพัฒนาต้นทุนมนุษย์จึงกลายเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญต่อการเพิ่มผลิตภาพของกำลังคนเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุของไทย โดยสังคมไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ศาสตราจารย์ James J. Heckman ยังสรุปหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เกี่ยวกับการลงทุนในการพัฒนาทุนมนุษย์ไว้อย่างน่าสนใจว่า "การลงทุนในเด็กที่มีอายุน้อยกว่าจะนำไปสู่อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่างานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคช่วยให้เข้าใจว่า ทุนมนุษย์ (human capital) เป็นปัจจัยการผลิตที่มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ งานวิจัยของ Lucas Jr (1988) Romer (1990) และ Mankiw et al. (1992) นำเสนอกรอบแนวคิดที่ว่าทุนมนุษย์ส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านปฏิสัมพันธ์ระหว่างแรงงานทักษะสูงซึ่งนำไปสู่นวัตกรรมที่เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ที่สำคัญ

บทบาทของทุนมนุษย์ยังสามารถเติบโตได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งแตกต่างจากกรณีของทุนทางกายภาพ (physical capital) ที่จะมีบทบาทน้อยลงเมื่อมีปริมาณมากขึ้น ดังนั้น การลงทุนเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ในขณะเดียวกัน งานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์จุลภาคชี้ให้เห็นว่าทุนมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของแต่ละปัจเจกบุคคล ในช่วงแรกงานวิจัยของ Becker (1964) และ Mincer (1974) ช่วยชี้ให้เห็นบทบาทของทุนมนุษย์ต่อผลลัพธ์ในตลาดแรงงาน โดยใช้การศึกษาและประสบการณ์ทำงานแทนทุนมนุษย์

งานวิจัยกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับอัตราผลตอบแทนของการศึกษา (returns to schooling) ซึ่งช่วยบ่งชี้ว่า การศึกษาที่เพิ่มขึ้นสามารถช่วยให้ผู้เรียนได้รับผลตอบแทนมากน้อยเพียงใด ในขณะเดียวกันงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคชี้ให้เห็นว่า ทุนมนุษย์เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ระดับการศึกษาและประสบการณ์ทำงานไม่ใช่ทุนมนุษย์โดยตรง แต่เป็นกระบวนการสำคัญในการสร้างทุนมนุษย์

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า งานวิจัยของ รศ.ดร. วีรชาติ กิเลนทอง Kilenthong et al. (2023) อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.หอการค้าไทยและคณบดีคณะการศึกษาปฐมวัยได้ใช้ข้อมูลการสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัยที่สำรวจในปีการศึกษา 2563 และจัดการกับปัญหาข้างต้นด้วยการใช้เทคนิคตัวแปรเครื่องมือ (instrumental variable approach) ซึ่งช่วยให้ผลการประมาณค่ามีความน่าเชื่อถือและผลการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่า การปิดสถานศึกษาในช่วงการระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้เกิดปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอยกับเด็กปฐมวัยอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านคณิตศาสตร์และความจำใช้งาน (working memory) ข้อค้นพบนี้สอดคล้องกับผลการวิจัยของ Ardington et al. (2021) Contini et al. (2021) Engzell et al. (2021) Halloran et al. (2021) Lewis et al. (2021) Maldonado & De Witte (2021) Schult & Lindner (2021) Tomasiket al. (2020) ที่พบว่า การปิดสถานศึกษาในช่วงการระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยเช่นเดียวกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ