นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้และเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน(ชุมพร-ระนอง) หรือโครงการแลนด์บริดจ์ว่า สนข.ศึกษาแนวคิดภาพรวมเสร็จแล้ว สรุปรูปแบบโครงการ คือมีท่าเรือ 2 ฝั่ง มีมอเตอร์เวย์ และรถไฟ เชื่อมท่าเรือ โดย สนข.ได้ศึกษาและออกแบบท่าเรือ อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ส่วนกรมทางหลวง ศึกษาออกแบบมอเตอร์เวย์ รวมถึงการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ศึกษาออกแบบรถไฟและทำรายงาน EIA ให้เสร็จในเดือนก.ย.ปี 68 เพื่อให้สอดคล้องกับไทม์ไลน์ในการขับเคลื่อนทั้งโครงการ ที่คาดว่าจะเปิดประกวดราคาช่วงปลายปี 2568 หรือไม่เกินต้นปี 69
ขณะนี้สนข.กำลังดำเนินการจ้างที่ปรึกษา โครงการจัดเตรียมเอกสารและให้คำปรึกษาในการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ (RFP) วงเงินงบประมาณ 45.9590 ล้านบาท ระยะเวลาศึกษา 840 วัน คาดว่าจะลงนามสัญญาจ้างได้ในเดือนก.ย. 67
ที่ผ่านมา สนข.ได้ศึกษาข้อมูลภาพรวมและการลงทุนโครงการและจากที่ได้โรดโชว์รับฟังความเห็นจากนักลงทุนจากหลายประเทศในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าได้รับ ความสนใจของนักลงทุนอย่างมาก เช่น Dubai Port World (DP World) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทและผู้บริหารธุรกิจโลจิสติกส์และ Supply Chain ยักษ์ใหญ่ระดับโลก ผู้บริหารระดับสูงมาดูพื้นที่เอง รวมไปถึงนักลงทุนจีน และสหรัฐอเมริกา
ดังนั้นสนข.ในฐานะผู้ศึกษาโครงการฯ จึงมั่นใจว่าโครงการแลนด์บริดจ์ จะเกิดแน่นอน อีกสาเหตุที่สนับสนุนทำให้เกิดความเชื่อมั่น คือ ความจำเป็นที่ต้องมีท่าเรือในฝั่งอันดามัน เนื่องจาก ปัญหาความขัดแย้งขั้วอำนาจของโลก ขณะที่การขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา ที่บริหารดูแลโดยสิงคโปร์ มีอเมริการ่วมด้วยนั้น ซึ่งต้องยอมรับว่า ทุกๆ ประเทศต้องการความมั่นใจในการเดินเรือขนส่งสินค้าและทำธุรกิจต่อไปได้ท่ามกลางความขัดแย้งของขั้วอำนาจ
นายปัญญา กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า อีก 10 ปี ช่องแคบมะละกาจะเต็ม เกิดความหนาแน่นต้องเข้าคิวรอนาน สายเดินเรือจะเสียเวลาและมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ขณะที่แลนด์บริดจ์ แบ่งการลงทุนเป็น 3 เฟส ตามดีมานด์ เฟสแรก 5 แสนล้านบาท มีท่าเรือ มอเตอร์เวย์ รถไฟ และพื้นที่หลังท่า ซึ่งความเห็นนักลงทุนรายใหญ่ มองว่าตัวเลขสมเหตุสมผล
สนข.ได้เดินหน้าผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (พ.ร.บ. SEC) เพื่อขับเคลื่อนแลนด์บริดจ์ จะมีการกำหนดพื้นที่ 4 จังหวัด คือ สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ คาดว่าจะสรุปนำเสนอครม. ภายในเดือนต.ค.-พ.ย. 67 เข้าสู่กระบวนการออกกฎหมายต่อไป โดยคาดว่าร่าง พ.ร.บ. SEC จะผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ในเดือนเม.ย. 68
นายสุริยะ กล่าวว่า พ.ร.บ. SEC และการจัดตั้งสำนักงาน SEC นั้น ตามแผนจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/68 ส่วนออกแบบทางรถไฟ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) รวมถึงการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และคาดว่าสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเสร็จปี 68 สอดคล้องกับการออกแบบท่าเรือ และการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ที่จะแล้วเสร็จภายในปี 67 และส่งให้ สผ. พิจารณาแล้วเสร็จในปี 68
ในส่วนของกระบวนการคัดเลือกเอกชนนั้น การจัดทำร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ (RFP) คาดว่า จะแล้วเสร็จภายในปี 68 ก่อนที่จะคัดเลือกผู้ลงทุนในไตรมาส 3/68 จากนั้นจะเสนอ ครม. อนุมัติโครงการในปี 68 ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญากับผู้ชนะการประกวดราคาได้ในต้นปี 69 ขณะที่การก่อสร้าง แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 เริ่มก่อสร้างปี 69 แล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 73 ระยะที่ 2 เริ่มก่อสร้างปี 74 แล้วเสร็จปลายปี 77 และระยะที่ 3 เริ่มก่อสร้างปี 78 แล้วเสร็จปลายปี 79