นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยความคืบหน้าการลงทะเบียนของโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ขณะนี้ยอดการลงทะเบียนล่าสุดเกือบ 25 ล้านคน ซึ่งการอัพเดตแอปพลิเคชันเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี และยืนยันว่า ทุกอย่างยังเป็นไปตามกรอบเวลา
ทั้งนี้ โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะต้องนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้ง แต่ยังไม่ใช่วันพรุ่งนี้ (6 ส.ค.) แต่จะนำเข้าครม.ในช่วงวันที่จะต้องผูกยอดเงิน เพื่อให้ทราบว่าจะมีงบประมาณในการบริหารจัดการโครงการนี้เท่าไร และนำเข้าครม.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
นายจุลพันธ์ ชี้แจงถึงการเลื่อนการชี้แจงการลงทะเบียนร้านค้าของกระทรวงพาณิชย์ว่า เนื่องจากมีร้านค้า เช่น ร้านค้าวิสาหกิจชุมชน ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับภาครัฐอย่างครบถ้วน ทำให้เมื่อถึงเวลาการลงทะเบียนในวันที่ 1 ต.ค.จะมีปัญหา กระทรวงพาณิชย์จึงได้มีการประสานงานกับร้านค้าเหล่านั้น ให้มาดำเนินการขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ หรือ หน่วยงานของรัฐอื่น ๆ เพื่อให้มีความครบถ้วน และเมื่อถึงเวลาลงทะเบียน ร้านค้าเหล่านั้นจะสามารถเข้าสู่โครงการได้
นอกจากนี้ ยังมีร้านค้าบางประเภท เช่น ร้านค้าเล็ก ๆ หรือร้านสะดวกซื้อเอกชนรายเล็ก ๆ ล่าสุดมีการแสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 100,000 ร้านค้า
สำหรับร้านค้าไม่สามารถไปบังคับให้เข้าโครงการฯ ได้ รวมถึงประชาชนก็ไม่สามารถบังคับมารับสิทธิ์ได้ แต่เมื่อโอกาสมาถึงเงิน 4-5 แสนล้านบาท จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ใช้หมุนเวียนมากกว่า 2 รอบ เกือบล้านล้านบาท ซึ่งไม่อยากให้มองข้ามโอกาสตรงนี้ไป เพราะเป็นโอกาสในการทำมาหากิน
ส่วนข้อกังวลของร้านค้าเกี่ยวกับการถูกเรียกเก็บภาษีนั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า โครงการนี้ไม่ได้เชื่อมท่อตรงไปยังระบบของสรรพากรที่ต้องส่งรายละเอียดให้ แต่กระบวนการเรื่องภาษีหากมีการเตรียมการที่ดี ไม่มีอะไรน่าห่วง และกลไกของภาษีไม่ได้เก็บทั้งหมด สามารถหักค่าใช้จ่าย และต้นทุนการผลิตได้ แต่ปัญหาในอดีต คือภาครัฐไม่มีการสื่อสาร และร้านค้าก็ไม่ได้มีการเตรียมตัว
สำหรับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการจะมีป้ายบอกชัดเจน ซึ่งมีการออกแบบมาเรียบร้อยแล้ว และจะมีการสื่อสารกับกลุ่มร้านค้า เพื่อให้ประชาชนได้ทราบว่า ร้านค้าใดบ้างที่เข้าร่วมโครงการบ้าง
ในส่วนของงบประมาณที่ผูกพันข้ามปีงบประมาณ 67 ที่จะไปใช้ในปี 68 นั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ชี้แจงไปหลายครั้งแล้ว แต่ย้ำว่า รัฐบาลมั่นใจในกรอบกฏหมายที่ดำเนินการสามารถทำได้