ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน ก.ค.67 อยู่ที่ 57.7 ลดลงจาก 58.9 ในเดือน มิ.ย.67 โดยปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.ย..66 เป็นต้นมา
เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมากังวลว่าการเมืองไทยเริ่มขาดเสถียรภาพเกี่ยวกับการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะตัดสินเรื่องการยุบพรรคก้าวไกลและความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีอย่างไร ซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองในอนาคต และกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังคงชะลอตัวลงและฟื้นตัวช้า เพราะยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน ประกอบกับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน และผู้บริโภคยังคงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่ยังคงยืดเยื้อบานปลาย อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจไทย
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 51.3 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 54.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 66.8
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) ในเดือนก.ค.67 ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือนนับตั้งแต่ ก.ย.66 แสดงให้เห็นว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังเป็นขาลง ซึ่งความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จะขึ้นกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศช่วงนี้เป็นสำคัญว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ โดยเฉพาะคดีคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี จากผลของการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งคดียุบพรรคก้าวไกล
"ตอนนี้มองว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเป็นขาลง ขึ้นกับการเมืองไทยจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร โดยเฉพาะคดีของนายกรัฐมนตรี หากมีการเปลี่ยนแปลง ก็จะทำให้ความเชื่อมั่นเป็นขาลง แต่หากไม่เปลี่ยนแปลง ความเชื่อมั่นจะยังเป็น sideway ส่วนกรณีที่หากมีอุบัติเหตุทางการเมืองกับพรรคก้าวไกล เชื่อว่าจะไม่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่รุนแรง การเมืองจะไม่มีสัญญาณเปลี่ยนแปลงมากมาย" นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมมองว่า ในกรณีที่คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ หากมีผลต่อสถานะของนายเศรษฐา ทวีสิน ให้หลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ก็ต้องติดตามการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่จะเป็นใคร ทิศทางการปรับคณะรัฐมนตรี และแนวนโยบายรัฐบาลจะเป็นอย่างไร ซึ่งจะมีผลต่อทิศทางของเศรษฐกิจไทยได้
"อาจมีผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงได้ หากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสูง เพราะเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในช่วงสูญญากาศ ไม่ว่าจะเป็นพลิกขั้ว เปลี่ยนขั้ว เปลี่ยนนายกฯ เปลี่ยนนโยบาย ซึ่งจะมี impact ต่อเศรษฐกิจในปีนี้ได้ประมาณ 0.3% ดังนั้น โอกาสที่เศรษฐกิจไทยปีนี้ จะโต 2% นิด ๆ ก็เป็นไปได้ ถ้ามีการพลิกผัน (ทางการเมือง) สูง" นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนและยังเป็นขาลง มีความสุ่มเสี่ยงมากขึ้นที่จะเติบโตได้ต่ำกว่า 2.5% หากรัฐบาลไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้สำเร็จ ท่ามกลางความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐ รวมทั้งความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะสงครามในตะวันออกกลาง จากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์
"เราเห็นสัญญาณความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย สุ่มเสี่ยงมากขึ้นที่จะโตได้ต่ำกว่า 2.5% หากรัฐบาลไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีพอ" นายธนวรรธน์ กล่าว
ทั้งนี้ คาดว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะจากผลการสำรวจของ ม.หอการค้าไทย พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หากได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว จะเริ่มนำไปใช้จ่ายทันทีและใช้จ่ายทั้งก้อนในเดือนแรกของโครงการ (คาดหมายเดือนธ.ค.67) ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น จะเท่ากับว่ามีเม็ดเงินอย่างน้อย 2.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 50% ของ 5 แสนล้านบาท ลงสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงเดือนแรกของโครงการ และจากนั้นในช่วงเดือนที่ 2 และ 3 หรืออยู่ในช่วงไตรมาส 1 ของปี 68 ก็จะมีเม็ดเงินจากการใช้จ่ายในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตลงสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มเติมเข้ามาอีก รวมแล้วเป็น 3-4 แสนล้านบาท ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้
"ปีนี้ เราคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะโตได้ 2.4-2.6% และถ้ามีดิจิทัลวอลเล็ตเข้ามา ก็จะช่วยเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ให้โตเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 0.5-0.7% และหากรวมทั้งปี 67 คาดว่าจะช่วยเพิ่ม GDP ได้ราว 0.2-0.3% ซึ่งก็จะมีผลให้เศรษฐกิจปีนี้ โตได้เป็น 2.6-2.8% กรณีที่รวมดิจิทัลวอลเล็ต" นายธนวรรธน์ ระบุ