นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) เดือนก.ค.67 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 22-30 ก.ค.67 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 52.2 ลดลงจากระดับ 54.2 ในเดือนมิ.ย.67
นายวชิร กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนก.ค.นี้ ปรับตัวลดลงค่อนข้างมากเกือบ 2 จุดจากเดือนมิ.ย.67 และเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยเริ่มเห็นสัญญาณความไม่เชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่มากขึ้น ดูได้จากดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบัน ที่อยู่ระดับต่ำกว่า 50 เป็นครั้งแรกในรอบปี นับตั้งแต่ ก.ค.66
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนก.ค.67 ที่ปรับตัวลดลง เป็นผลมาจากการการลดลงของดัชนีใน 2 ภูมิภาคหลัก คือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาคกลาง อันเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจมีสัญญาณชะลอตัวลง ในขณะที่ดัชนีของภูมิภาคอื่น เช่น ภาคตะวันออก และภาคเหนือ มีสถานการณ์การท่องเที่ยวที่โดดเด่น โดยมีรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติมาช่วยทดแทนการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคไว้ได้
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้
- กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 51.6 ลดลงจากเดือนมิ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 53.7
- ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 51.8 ลดลงจากเดือนมิ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 53.8
- ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 55.0 ลดลงจากเดือนมิ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 56.9
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 51.1 ลดลง-จากเดือนมิ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 52.8
- ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 52.7 ลดลงจากเดือนมิ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 54.5
- ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 51.5 ลดลงจากเดือนมิ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 53.4
ปัจจัยลบ ได้แก่
1. ความกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศไทยที่ยังมีความไม่แน่นอน ตลอดจนนโยบายด้านเศรษฐกิจของภาครัฐยังไม่มีความชัดเจน
2. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงอยู่ สงครามกลางเมืองในหลายประเทศ
3. ความกังวลจากความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้มีการปรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
4. ปัญหาค่าระวางเรือที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจของคู่ค้าบางประเทศฟื้นตัวได้ค่อนข้างล่าช้า
5. ความกังวลต่ออัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่รัฐบาลจะให้มีการปรับเพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น
6. ความกังวลจากการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ยังมีความไม่แน่นอน ทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการเกิดความไม่สบายใจในการเตรียมความพร้อม
7. การส่งออกของไทยเดือน มิ.ย. 67 หดตัวเล็กน้อย 0.3% มูลค่าอยู่ที่ 24,796.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
8. ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 36.704 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 67 เป็น 36.295 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือน ก.ค. 67 สะท้อนว่ามีการไหลออกสุทธิของเงินตราต่างประเทศ
9. การเลือกตั้งในหลายประเทศสร้างความไม่แน่นอน ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุน เพื่อรอดูท่าทีนโยบาย
ปัจจัยบวก ได้แก่
1. ภาครัฐอนุมัติโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยเปิดให้ประชาชนที่สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ในระหว่างวันที่ 1 ส.ค.-15 ก.ย. 67 และกำหนดการที่จะให้เริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567
2. ภาครัฐออกมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองรอง 55 จังหวัด ในช่วงระหว่างวันที่ 1 พ.ค. - 30 พ.ย. 67
3. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์
4. นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น
5. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัว ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น และกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น
6. ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ปรับตัวลดลงประมาณ 0.40 บาท/ลิตร
7. ความหวังของประชาชนจากการมีสัญญาณของการขึ้นค่าจ้างงาน และเริ่มจะมีในการจับจ่ายใช้สอยที่กลับมามากขึ้น แต่ยังคงมีการระวังการเลือกซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น
8. ผลผลิตทางการเกษตรของไทยถึงช่วงฤดูการเก็บเกี่ยว เริ่มทำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการส่งออกผลไม้มีรายได้เพิ่มขึ้น
สำหรับข้อเสนอแนะของภาคเอกชนที่มีต่อรัฐบาล ได้แก่
1. มาตรการกำกับแก้ไขปัญหาที่เกิดจากสภาพอากาศที่แปรปรวน พื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ
2. การดูแลปัญหาเกี่ยวกับต้นทุนราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของธุรกิจ SME
3. ควบคุมราคาของปัจจัยการผลิตต่างๆ ให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม เพราะจะกระทบต่อค่าใช้จ่ายของธุรกิจ
4. มาตรการช่วยเหลือด้านการเพิ่มศักยภาพของธุรกิจให้เข้าถึงโอกาสของตลาดใหม่ ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
5. แนวทางการสนับสนุนภาครัฐช่วยเหลือด้านมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย เช่น มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง มาตรการกระตุ้นที่สามารถเพิ่มยอดคำสั่งซื้อสินค้า/บริการในทุกสาขาธุรกิจ
6. การรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน