นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชน ต่อโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 88.2% อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่จะได้รับสิทธิโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจากรัฐบาล ขณะที่อีก 9.2% ไม่อยู่ในเงื่อนไข และมีเพียง 2.6% ที่ไม่แน่ใจ
สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่เข้าเงื่อนไข จะได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 82.6% ระบุว่า จะไปลงทะเบียนขอรับสิทธิ ขณะที่อีก 17.4% ระบุว่า จะไม่ลงทะเบียน
โดยเมื่อถามถึงลักษณะการใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ต พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 64.1% ระบุว่า จะใช้ทั้งหมดในครั้งเดียว รองลงมา 21.2% ระบุว่า ไม่แน่ใจ และอีก 14.7% ระบุว่า จะแบ่งใช้หลายครั้ง
เมื่อถามถึงช่วงเวลาที่จะใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ต พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 79.3% ตอบว่าจะใช้ในเดือนที่ 1 รองลงมา กลุ่มตัวอย่าง 65.2% ตอบว่า จะใช้ในเดือนที่ 2 กลุ่มตัวอย่าง 62.6% ตอบว่าจะใช้เดือนที่ 3 กลุ่มตัวอย่าง 39.9% ตอบว่า จะใช้ในเดือนที่ 4 กลุ่มตัวอย่าง 12.6% ตอบว่า จะใช้ในเดือนที่ 5 และกลุ่มตัวอย่าง 8.5% ตอบว่าจะใช้ในเดือนที่ 6
สำหรับประเภทสินค้า 5 อันดับแรก ที่ประชาชนจะนำเงินดิจิทัลวอลเล็ตไปซื้อ พบว่า
อันดับ 1 สินค้าอุปโภค-บริโภค เช่น อาหาร เสื้อผ้า
อันดับ 2 สินค้าเพื่อการศึกษา
อันดับ 3 เครื่องดื่ม (ไม่มีแอลกอฮอล์) ของใช้ส่วนตัว เป็นต้น
อันดับ 4 สินค้าวัตถุดิบเพื่อการเกษตร/เพื่อการค้า
อันดับ 5 ยารักษาโรค
เมื่อถามว่า ควรนำสินค้าที่ถูกยกเว้น (Negative List) รายการใด กลับเข้ามาร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
อันดับ 1 น้ำมันเชื้อเพลิง
อันดับ 2 ก๊าซธรรมชาติ
อันดับ 3 เครื่องใช้ไฟฟ้า
อันดับ 4 อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
อันดับ 5 เครื่องมือสื่อสาร
อันดับ 6 ภาคบริการ
อันดับ 7 ทองคำ/เพชร/อัญมณี
อันดับ 8 สลากกินแบ่งรัฐบาล
อันดับ 9 ยาสูบ
อันดับ 10 เครื่องดื่มแอลกอฮอล์