นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาระบบตั๋วร่วมว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ....ไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.) แล้วเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 67 เพื่อรอบรรจุวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป
หลังครม.เห็นชอบจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ ระหว่างเดือนส.ค. 67 - ม.ค. 68 และจะนำเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่รัฐสภาภายในเดือนก.พ. 68 เป้าหมายจะเร่งรัดพ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ภายในเดือนต.ค. 68 เพื่อให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายที่จะขยายใช้กับรถไฟฟ้าทุกสายต่อไป
"เมื่อมีพ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ เป็นกฎหมายหลักก็ต้องทำกฎหมายลูกเกี่ยวกับอัตราค่าโดยสารร่วม เทคโนโลยีร่วมเพื่อกำหนดมาตรฐานบัตรศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง หรือเคลียร์ริ่งเฮ้าส์การตัดเงินและค่าธรรมเนียมเป็นต้นและสนข.จะทำหน้าที่เป็น Regulator กำกับดูแลมาตรฐานต่างๆตามที่พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯกำหนด"
นายปัญญา กล่าวว่า หลักการค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายในส่วนของรถไฟฟ้าตามนโยบายรมว.คมนาคมนั้นขณะนี้ได้นำร่องในโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงซึ่งพบว่ามีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นและทำสถิตินิวไฮต่อเนื่องส่วนการจะขยายไปยังเส้นทางที่มีเอกชนรับสัมปทานซึ่งกำหนดวว่าจะเริ่มในเดือนก.ย. 68 นั้นจำเป็นจะมีพ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ ก่อนเพื่อให้มีการจัดตั้งกองทุนตั๋วร่วมเพื่อนำรายได้จากกองทุนมาชดเชยส่วนจะชดเชยอย่างไร จำนวนเท่าไร ต้องเจรจากับผู้ประกอบการเนื่องจากจำต้องนำจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นจากการลดค่าโดยสารมาคำนวณประกอบซึ่งกรมการขนส่งทางราง(ขร.)ได้วิเคราะห์เบื้องต้นว่า ช่วง 4-5 ปีแรกที่มีการเก็บค่าโดยสารไม่เกิน 20 บาทตลอดสายนั้นรัฐต้องชดเชยแน่นอน แต่หลังจากนั้นจำนวนผู้โดยสารจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นไปจนถึงระดับที่เพียงพอต่อการชดเชยรายได้ที่หายไปได้เองโดยรัฐบาลไม่ต้องอุดหนุน
ทั้งนี้ในการจัดตั้งกองทุนตั๋วร่วมนั้นเพื่อให้สามารถนำเงินจากกองทุนไปชดเชยในส่วนของอัตราค่าโดยสารร่วมให้เอกชนด้วยซึ่งเงินกองทุนตั๋วร่วมนั้นจะมาจากหลายแหล่ง เช่น รายได้ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ที่ได้รับจากสัญญาสัมปทาน และแนวคิดกระทรวงคมนาคม คือ การจัดเก็บค่าธรรมเนียมเมื่อรถเข้าเมือง หรือ Congestion Charge ซึ่งมีหลายประเทศที่ใช้ เช่น อังกฤษ สิงคโปร์ จะมีการเก็บค่าธรรมเนียมเมื่อมีการนำรถยนต์ส่วนตัวเข้าเขตใจกลางเมือง ซึ่งขณะนี้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคมได้เดินทางไปประเทศอังกฤษเพื่อดูเรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดของมหานครลอนดอนหรือLondon Congestion Charge ว่ามีการดำเนินการอย่างไรกรณีรถยนต์เข้ากลางใจเมือง
ทั้งนี้ จุดประสงค์ของแนวคิดนี้ไม่ได้ต้องการให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนแต่กระทรวงคมนาคมต้องการให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้นแก้ปัญหาจราจรแก้ปัญหามลพิษทางอากาศฝุ่น PM 2.5 เป็นผลดีต่อภาพรวมของประเทศซึ่งจะต้องมีการศึกษารายละเอียดกันอย่างรอบคอบและต้องพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นด้วย