นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.ได้ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าว่ายังมีความเปราะบาง แม้การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐ จะเริ่มนำเม็ดเงินเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ทำให้การใช้จ่ายของรัฐกลับมาขยายตัวเฉลี่ยสูงกว่ากว่า 15% ในเดือนพ.ค.-มิ.ย.67
แต่อย่างไรก็ดี อุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัว สะท้อนจากยอดโอนอสังหาริมทรัพย์ ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.67) หดตัว -8.8% ยอดจำหน่ายรถยนต์ ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.67) หดตัวต่อเนื่องที่ -24%YoY และการส่งออกที่ยังขยายตัวได้น้อย ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่าศักยภาพ แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะทยอยกลับมาฟื้นตัว
ที่ประชุม กกร. เห็นว่าการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงที่เหลือของปี เป็นความจำเป็นเร่งด่วน โดยเฉพาะการกระตุ้นกิจกรรมก่อสร้างภาครัฐให้กลับคืนมา ซึ่งจะช่วยหนุนภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องรวมทั้งการจ้างงานให้ฟื้นตัวดีขึ้นโดยเร็ว เติมสภาพคล่องในระบบเพื่อสนับสนุนกำลังซื้อที่อ่อนแอ พร้อมเสนอว่า ภาครัฐควรนำเทคโนโลยี เช่น Block Chain มาพัฒนากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างออนไลน์ ตาม พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 ให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส สามารถติดตามสถานะได้ตลอดเวลา ช่วยควบคุมการรั่วไหลข้อมูลด้านราคา ป้องกันการสมยอมกันระหว่างหน่วยงานกับผู้ขาย หรือการสมยอมกันในหมู่ผู้ขาย
ทั้งนี้ กกร.ยังคงประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ไว้ตามเดิม โดยคาดว่า GDP จะเติบโตได้ 2.2-2.7% ส่วนการส่งออก คาดขยายตัวได้ 0.8-1.5% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ คาดสูงขึ้น 0.5-1.0%
นายผยง กล่าวว่า กกร. มีความกังวลต่อการขาดดุลการค้าระหว่างไทย-จีน ที่ล่าสุด 6 เดือนแรกของปี 67 (ม.ค.-มิ.ย.) มีการนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นถึง 7.12% (YoY) คิดเป็นมูลค่ากว่า 37,569 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าจากจีน 19,967 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.66% (YoY) ซึ่งส่งผลกระทบกับภาคการผลิตกว่า 23 กลุ่มอุตสาหกรรม อีกทั้งยังถูกซ้ำเติมจาก Platform e-commerce ที่เข้ามาเปิดตลาดในประเทศโดยขายสินค้าจากโรงงานตรงสู่ผู้บริโภคในราคาถูก ซึ่งเป็นการค้ารูปแบบใหม่ของจีน ยิ่งกดดันผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันทั้งด้านราคา และต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าได้
ดังนั้นเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ ภายใต้เมกะเทรนด์ของโลกที่มีสินค้าไม่ได้คุณภาพเข้ามาตีตลาดจากภาวะ Over Supply ที่ประชุม กกร. จึงขอเสนอให้รัฐบาลเข้มงวดการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้า กำกับ และควบคุมสินค้าที่หลีกเลี่ยงภาษี โดยบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าภายในประเทศอย่างเข้มข้น โดยสร้าง Ecosystem ที่ทำให้ผู้ประกอบการไทย และ Supply Chain ไทยมีความเข้มแข็งและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย-จีน และ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและส่งเสริมธุรกิจไทย-จีน อย่างยั่งยืน (Thai-Chinese Center for Business Sustainability (TCCBS)) เพื่อแก้ไขปัญหาการค้าและการลงทุน ระหว่างไทยและจีน ให้อยู่ในกรอบของผลประโยชน์ร่วมกันภายใต้กรอบของกฎหมายของทั้ง 2 ประเทศ และกติกาสากล
ที่ประชุม กกร. ยังมองว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนยังมีความน่ากังวล ตัวเลขหนี้เสีย (NPL) ที่รายงานโดยเครดิตบูโรยังมีการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดเดือนพ.ค.สูงถึง 1.14 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 11%YoY สะท้อนภาพการฟื้นตัวของรายได้ที่ยังไม่ทั่วถึง
"มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องเร่งรัดผันเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยที่ส่วนหนึ่งมุ่งเน้นการยกระดับกลุ่มฐานราก และภาคการผลิต ใน Real Sector ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และสร้างรายได้ให้กับกิจการ และแรงงานตลอด Supply Chain อย่างแท้จริง ควบคู่ไปกับการกระตุ้นให้ลูกหนี้และภาคธุรกิจ เข้าร่วมการปรับโครงสร้างหนี้ หรือรวมหนี้ เพื่อลดภาระหนี้ให้เหมาะสมกับรายได้" ประธาน กกร. กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุม กกร. ได้แสดงความห่วงใยถึงสถานการณ์ภาคการผลิตที่หดตัว ถึงแม้ว่า 6 เดือนแรกของปี 2567 จะมีจำนวนการเปิดโรงงานขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีโรงงานเปิดกิจการกว่า 1,009 แห่ง เพิ่มขึ้น 122.67%YoY ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) แต่ในขณะเดียวกัน จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่ามีโรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้นในครึ่งปีแรกแล้วกว่า 667 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า +86.31%YoY หรือเฉลี่ย 111 แห่ง/เดือน และหากพิจารณามูลค่าโรงงานต่อโรงที่ปิดตัว พบว่ามีเงินทุนลดลงเหลือเฉลี่ย 27.12 ล้านบาท/โรงงาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก หรือ SMEs ที่มีการปิดโรงงานในอัตราส่วนที่เร่งขึ้น
ดังนั้น กกร. จึงอยู่ระหว่างเตรียมข้อเสนอเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม อาทิ การส่งเสริมสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ (Made in Thailand) เพื่อช่วยจัดสรรเม็ดเงินลงระบบในราย Sector การสนับสนุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อรองรับ EV และ Transform ไปยังธุรกิจใหม่ การส่งเสริม SMEs การบริหารจัดการ waste ของภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับ Industry 4.0
อย่างไรก็ดี จากที่ภาครัฐตั้งข้อสังเกตว่าเศรษฐกิจไทยมีการลงทุนลดลง จากเดิมที่เคยมีสัดส่วนลงทุนสูงเกือบ 30% ของ GDP แต่ปัจจุบันกลับไม่ถึง 25% ของ GDP นั้น กกร. เห็นตรงกับภาครัฐว่าประเทศไทยจำเป็นต้องลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเสนอให้ภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนทางภาษีอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมการลงทุนในเมืองรองและสนับสนุนการลงทุนโดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (local content) ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเมกะเทรนด์ การลงทุนเพื่อรองรับสังคมคาร์บอนต่ำ รวมถึงปรับปรุงหลักเกณฑ์และกฎหมายเพื่อลดอุปสรรคในการทำธุรกิจ (Ease of doing business) และความพร้อมเรื่องทรัพยากรบุคคล