นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ผลการดำเนินมาตรการดูแลสินค้าเกษตร ทั้งพืชหลัก พืชรองในปี 67 ที่กระทรวงพาณิชย์ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชนรายใหญ่กว่า 12 กลุ่มธุรกิจ 20 เครือ 27 หน่วยงานนั้น สามารถช่วยดูแลรักษาสมดุลของผลผลิตกับการบริโภค และผลักดันให้ราคาผลผลิตเพิ่มขึ้นได้อีก 1.96 แสนล้านบาท มาอยู่ที่ 1.05 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 23% จากปี 66 ที่สินค้าเกษตรช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้รวม 857,300 ล้านบาท ซึ่งรัฐไม่ต้องใช้งบประมาณรัฐบาลเข้าไปอุดหนุนเลย
"ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้มีมาตรการดูแลพืชเกษตร วางแผนการจัดผลผลิต มีปฏิทินสินค้าเพื่อให้รู้ว่าแต่ละเดือน แต่ละช่วง สินค้าอะไรจะออกสู่ตลาดเท่าไร จะได้เตรียมมาตรการบริหารจัดการไว้ล่วงหน้า ไม่รอให้เกิดปัญหา ทำให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นหลายตัว เช่น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,221 บาท สูงสุดในรอบ 5 ปี ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 12,111 บาท สูงสุดรอบ 20 ปี ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 11,964 บาท สูงสุดรอบ 4 ปี ยางแผ่นดิบ กก. 77 บาท สูงสุดรอบ 10 ปี น้ำยาง 70 บาท สูงสุดในรอบ 10 ปี ปาล์มน้ำมัน เฉลี่ยกก.ละ 6 บาท ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กก.ละ 11.2 บาท มันสำปะหลัง กก.ละ 2.75-3.15 บาท" นายภูมิธรรม กล่าว
สำหรับแนวทางที่กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการ คือ ได้ร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และพันธมิตร ทำแผนงาน "คนตัวใหญ่ ช่วยคนตัวเล็ก" เข้าไปรับซื้อผลไม้ช่วงที่ผลผลิตออกมาก และร่วมกับเอกชนช่วยรับซื้อพืชรองไปจำหน่าย แปรรูป หรือเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมไปแจกลูกค้า เพื่อสร้างสมดุลผลผลิต โดยมีเป้าหมายบริหารจัดการพืชรอง 3 กลุ่ม ได้แก่ ผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ลำไย สับปะรด ฯลฯ 6 มาตรการ 25 แผนงาน เป้าหมาย 900,000 ตัน, พืช 3 หัว คือ กระเทียม หอมหัวใหญ่ หอมแดง 5 มาตรการ เป้าหมาย 59,500 ตัน และผัก เช่น มะนาว พริกขี้หนูจินดา มะเขือเทศ ฟักทอง 5 มาตรการ เป้าหมาย 20,300 ตัน
นายภูมิธรรม กล่าวว่า ปัจจุบันเครือข่ายพันธมิตร "คนตัวใหญ่ ช่วยคนตัวเล็ก" มี 12 กลุ่มธุรกิจ 20 เครือ 27 หน่วยงาน อาทิ กลุ่มผู้ผลิตสินค้าในเครือเจริญโภคภัณฑ์, กลุ่มธุรกิจปั๊มน้ำมัน ได้แก่ ปตท. พีที บางจาก ซัสโก้, สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ,กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ แสนสิริ แอสเซทไวส์ เสนา ไอริส, ห้างค้าปลีก-ค้าส่ง และห้างท้องถิ่นทั่วประเทศ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐพันธมิตร ธนาคารรัฐ และกรมราชทัณฑ์