สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผยทั่วโลกให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ชี้เป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ แนะทุกภาคส่วนควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเร่งปรับตัวสู่ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Business) เพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ ลดต้นทุนในการผลิต และพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ รวมถึงผู้บริโภคก็มีความต้องการสินค้าและบริการที่ยั่งยืน ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
จากคู่มือ The Visionary CEO?s Guide to Sustainability โดย Bain & Company ได้สำรวจความต้องการของผู้บริโภค จำนวนมากกว่า 23,000 คน ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วโลก ในปี 2566 พบว่า ผู้บริโภค 64% ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนอย่างมาก และผู้บริโภค 12% ยินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้นสำหรับสินค้า บริการ หรือธุรกิจที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคธุรกิจจึงควรเร่งปรับตัวสู่การเป็นธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Business) เพื่อแสวงหาความได้เปรียบและช่วงชิงโอกาสทางการค้า
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Business) คือ การดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นการเติบโตของรายได้ควบคู่กับการคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการดำเนินการ 3 ด้าน ประกอบด้วย (1) ด้านสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษ ใช้พลังงานหมุนเวียน และรักษาสมดุลของระบบนิเวศ (2) ด้านสังคม มีส่วนร่วมในการยกระดับคุณภาพชีวิต การศึกษา และการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น และ (3) ด้านเศรษฐกิจ ดำเนินการค้าอย่างเป็นธรรม ช่วยกระจายรายได้ และสร้างความเสมอภาค และโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร
ปัจจุบันมีธุรกิจหลากหลายประเภทที่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นธุรกิจเพื่อความยั่งยืนได้ อาทิ
1) ธุรกิจพลังงานไฟฟ้าทดแทน จะช่วยให้หลายพื้นที่มีไฟฟ้าใช้ ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ บริษัท โซลาร์ ดี คอปอเรชัน จำกัด ของไทย ที่จำหน่ายและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์บนหลังคาแบบครบวงจร และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในชุมชนและท้องถิ่น
2) ธุรกิจแฟชั่นและความงาม สามารถนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้เพิ่มมูลค่าสินค้า และเล่าเรื่องราวของวัฒนธรรมท้องถิ่น อาทิ แบรนด์ Botanicanon ของญี่ปุ่น นำผลิตผลทางการเกษตรในท้องถิ่นมาใช้ผลิตเครื่องสำอางจากวัสดุธรรมชาติ
3) ธุรกิจสีเขียว ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ แบรนด์ Origins ของสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวจากธรรมชาติ ใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบจากวัสดุรีไซเคิล และยังจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูป่า
4) ธุรกิจการซ่อมแซมและการปรับปรุง ช่วยลดขยะในครัวเรือน ขยายเวลาการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า และหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด อาทิ แบรนด์ Patagonia ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งผลิตเครื่องมือนักปีนเขาและอุปกรณ์กลางแจ้ง ให้บริการรับซ่อมเสื้อผ้าของแบรนด์ และบริการรับเสื้อผ้าเก่าของแบรนด์เพื่อนำไปรีไซเคิล โดยลูกค้าจะได้รับเครดิตสำหรับซื้อสินค้าชิ้นต่อไป
5) ธุรกิจอาหาร ที่ช่วยลดจำนวนขยะจากอาหาร (food waste) และลดจำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการผลิตอาหาร อาทิ บริษัทสตาร์ทอัพ Oho ของไทย ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน Oho! จำหน่ายวัตถุดิบและอาหารที่เหลือจากร้านอาหาร ซึ่งยังมีคุณภาพดี แต่ราคาประหยัด
6) ธุรกิจอบรมและให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ ในการเปลี่ยนผ่านเป็นธุรกิจเพื่อความยั่งยืน อาทิ บริษัท กรีน เอ็นเนอร์ยี่ เน็ทเวอร์ค จำกัด ของไทย ให้คำปรึกษาในการพัฒนาและจัดทำเอกสารเกี่ยวกับคาร์บอนฟุตพริ้นท์
อย่างไรก็ดี การปรับเปลี่ยนเป็นธุรกิจเพื่อความยั่งยืนยังมีความท้าทายหลายประการ อาทิ ขาดความรู้ความเข้าใจ และเทคโนโลยี และขาดศักยภาพในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับปรับปรุงธุรกิจ ดังนั้น ภาครัฐควรมีบทบาทในการสนับสนุนภาคเอกชนให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน อาทิ ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สนับสนุนเงินทุนสีเขียว (Green Finance) ออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) ส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และก่อตั้งศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเพื่อความยั่งยืน เพื่อช่วยเหลือภาคเอกชนให้สามารถเปลี่ยนผ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ธุรกิจเพื่อความยั่งยืนเป็นโอกาสทางการค้าที่สำคัญของภาคเอกชนไทย เนื่องจากเป็นรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน สร้างภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการด้วยการแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม อีกทั้งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตในระยะยาวจากการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่
อย่างไรก็ดี ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องร่วมมือกัน เพื่อช่วยให้ภาคเอกชนเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมกับการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างการมีส่วนร่วมทำประโยชน์กลับคืนสู่สังคม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน