กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มอยู่ระหว่าง 34.80-35.50 บาท/ดอลลาร์ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 35.26 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 35.06-35.72 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 6 เดือน
ทั้งนี้ เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ โดยอัตราแลกเปลี่ยนแกว่งตัวผันผวนสูง ขณะที่ตลาดหุ้นโลกเผชิญภาวะปั่นป่วน และนักลงทุนหลีกเลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยงช่วงต้นสัปดาห์ ส่งผลให้เงินเยนแตะระดับสูงสุดรอบ 7 เดือน ท่ามกลางการระบายสถานะ Carry Trade และการกลับเข้าซื้อเงินเยน และเงินฟรังก์สวิส ในฐานะแหล่งพักเงินที่ปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม เงินเยนพลิกอ่อนค่า หลังรองผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ระบุว่าจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่ตลาดไร้เสถียรภาพ อีกทั้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ พุ่งขึ้น ขณะที่ราคาสินทรัพย์เสี่ยงฟื้นตัว หลังข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ต่ำกว่าคาด ซึ่งทำให้นักลงทุนคลายกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 423 ล้านบาท และ 34,445 ล้านบาท ตามลำดับ
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ เห็นว่า สถานการณ์ตลาดในสัปดาห์นี้ ตลาดจะให้ความสนใจกับตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ และยอดค้าปลีกเดือนก.ค.ของสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลต่อการคาดการณ์ทิศทางนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต่อไป อนึ่ง แม้ว่าเฟดได้ส่งสัญญาณแล้วว่ากำลังจะเริ่มลดดอกเบี้ยในเดือนก.ย. แต่ปฏิกิริยาของตลาดต่อข้อมูลจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ค. สะท้อนว่านักลงทุนบางรายมองว่าเฟดพลาดโอกาสในการลดดอกเบี้ยเมื่อสิ้นเดือนก.ค. ขณะที่เราคาดว่าข้อมูลสัปดาห์นี้ จะชี้ชัดมากขึ้นว่าเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังคงผ่อนคลายลง
อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนยังถูกขับเคลื่อนโดย Risk Sentiment อีกทางหนึ่ง โดยหากความเชื่อมั่นสำหรับการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุนทั่วโลกฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องจากท้ายสัปดาห์ก่อน เรามองว่าตลาดอาจลดทอนความคาดหวังเกี่ยวกับขนาดการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดลงบางส่วน ทั้งนี้ สัญญาตลาดล่วงหน้าบ่งชี้ว่ามีความเป็นไปได้เท่า ๆ กันที่เฟดจะลดดอกเบี 0.25% หรือ 0.50% ในการประชุมรอบถัดไป
ส่วนสถานการณ์ตลาดในประเทศ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนก.ค.ของไทยเพิ่มขึ้น 0.83% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นเป็นเดือนที่ 4 แต่ยังต่ำกว่ากรอบเป้าหมายที่ 1-3% ขณะที่ Core CPI เพิ่มขึ้น 0.52% ทางด้านกระทรวงพาณิชย์ คาดว่า CPI ไตรมาสสุดท้ายของปี จะเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนผลของต้นทุนพลังงานเป็นสำคัญ