นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการจัดตั้ง "สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ" หรือ NaCGA โดยขั้นตอนต่อไป จะเป็นการร่างกฎหมายจัดตั้งองค์กรดังกล่าวร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
"ขั้นตอนต่อไป กระทรวงการคลัง จะร่างกฎหมายจัดตั้งร่วมกับ ธปท. ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน" รมช.คลัง ระบุ
สำหรับ NaCGA หรือ สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ จะเป็นหน่วยงานในการยกเครื่องระบบค้ำประกันของไทย โดยเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ โดยไม่เป็นทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เป็นการค้ำประกันโดยตรง (Direct Guarantee) โดยเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้ ตั้งแต่การตรวจสอบข้อมูล การประเมินความเสี่ยงรายบุคคล การคิดค่าธรรมเนียม การค้ำประกันอิงตามระดับความเสี่ยง (Risk-Based Pricing) การอนุมัติและออกหนังสือค้ำประกัน โดยรายได้ของ NaCGA จะมาจาก 3 แหล่ง ได้แก่ เงินสมทบจากรัฐบาล เงินสมทบจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อ และค่าธรรมเนียมจากผู้ขอสินเชื่อ
ทั้งนี้ NaCGA เปรียบเหมือนเป็นสถาบันประกัน แต่เป็นการ "ประกันความเสี่ยงทางการเงิน" ให้ประชาชน โดยมีขั้นตอน ดังนี้
1. ประชาชนผู้ต้องการสินเชื่อ ติดต่อ NaCGA
2. NaCGA ประเมินความเสี่ยงของผู้ขอสินเชื่อเป็นรายบุคคล
3. NaCGA คิดค่าธรรมเนียมในอัตราต่ำในการค้ำประกันสินเชื่อตามความเสี่ยง (รัฐบาล และสถาบันการเงินช่วยสมทบ)
4. NaCGA ออกหนังสือค้ำประกันให้บุคคลนั้น โดยเป็นการประกันความเสี่ยง หากผิดนัดชำระหนี้
5. ผู้ขอสินเชื่อ นำหนังสือค้ำประกัน ไปใช้ในการไปขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน
6. สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อ เพราะผู้ขอสินเชื่อได้รับการค้ำประกันความเสี่ยงจาก NaCGA เรียบร้อยแล้ว