นายรัฐพล เจริญผล ผู้อำนวยการท่าอากาศยานหัวหิน กรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนการพัฒนาท่าอากาศยานหัวหินว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างขยายทางวิ่ง (รันเวย์) และเสริมผิวทางวิ่ง พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน งบประมาณ 239.89 ล้านบาท ผลงานอยู่ที่ประมาณ 99.49% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนนี้
ส่วนงานก่อสร้างอุโมงค์และขยายพื้นที่ปลอดภัยรอบทางวิ่ง บริเวณหัวทางวิ่ง 16 ตรงอุโมงค์รถยนต์ จากเดิมด้านละ 40 เมตร เป็น 60 เมตร งบประมาณ 300 ล้านบาท จัดซื้อจัดจ้างแล้ว อยู่ระหว่างสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ตรวจสอบแบบก่อสร้าง คาดว่าจะลงนามสัญญาและก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปี 2568 ซึ่งจะเพิ่มมาตรฐานของสนามบิน เป็นการเพิ่มพื้นที่เพื่อลดความเสี่ยงต่อความเสียหายของอากาศยานที่อาจเกิดการไถลออกนอกทางวิ่ง รองรับเครื่องบินแอร์บัส A 320 และ โบอิ้ง B 737-800 และรองรับเที่ยวบินมากขึ้น
ปัจจุบันมีการใช้ลานจอดเครื่องบินในกรณีที่มีเครื่อง A320 หรือ B737 มาใช้จะจอดได้ 2 ลำพร้อมกัน โดยระบบการจอดแบบ Power-in/Power-out จำนวน 1 ลำ และแบบ Power-in/Push-out
ถ้าจะใช้เป็นท่าอากาศยานเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวจำเป็นจะต้องมีลานจอดอย่างน้อย 3 หลุมเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการจัดเที่ยวบินเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานควรจัดรูปแบบทางขับบนลานจอดให้รองรับการจอดเครื่องขนาด Code C ได้อย่างน้อย 3 ลำพร้อมกันในระบบการจอดแบบ Power-in/Power-out หรืออย่างน้อย 5 ลำพร้อมกันในระบบการจอดแบบ Power-in/Push-out และจัดหลุมจอดให้มีระยะห่างตามมาตรฐานข้อกำหนดและ ผลกระทบจากการจัดลานจอดและทางขับดังกล่าว ต้องย้ายอาคารของหน่วยงานฝนหลวงออก คาดว่าย้ายปี 2570
นอกจากนี้ มีแผนการพัฒนาเพิ่มเติมในอนาคต งบประมาณ 2569 ได้แก่ การพัฒนาอาคารผู้โดยสารใหม่ โดยจะมีการจ้างออกแบบผังแม่บท อาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่และอาคารประกอบอื่นๆ และเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) วงเงิน48 ล้านบาท และงานแก้ไขข้อบกพร่องด้านการบิน ขยายทางขับ ปรับปรุงลานจอดเครื่องบินและก่อสร้างจุดตรวจค้นบุคคลและยานพาหนะ ก่อนเข้าพื้นที่เขตการบิน วงเงิน 60 ล้านบาท
อาคารผู้โดยสารปัจจุบันสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 300 คนในชั่วโมงคับคั่ง ซึ่งเพียงพอที่จะรับเครื่องบินขนาด A320 หรือ B737 ได้ครั้งละหนึ่งรอบ (Arrival/Departure) สมควรขยายอาคารให้สามารถรองรับเที่ยวบินได้ 3 เที่ยวบินขาเข้าได้ในเวลาใกล้เคียงกัน และสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 900 คนในชั่วโมงคับคั่ง (แยกการใช้พื้นที่อาคารสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศกับเที่ยวบินต่างประเทศออกจากกัน)
นายรัฐพล กล่าวว่า ปัจจุบันสนามบินหัวหิน มีให้บริการ 1 เที่ยวบินต่อวัน โดยสายการบินไทยแอร์เอเชีย เส้นทางหัวหิน-เชียงใหม่ และมีเที่ยวบินเช่าเหมาลำ และเครื่องบินนักเรียนการบิน ใช้บริการ ประมาณ 4 เที่ยวบิน และมีสายการบินที่แสดงความสนใจจะทำการบินเพิ่มเติม เป็นเส้นทางบินระหว่างประเทศ เช่น สายการบินแอร์เอเชียมาเลเซีย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เคยทำการบิน เส้นทาง กัวลาลัมเปอร์-หัวหินแล้วเมื่อ ปี2561 ? 2563ที่ถือเป็นฐานผู้โดยสารเดิมที่เคยใช้บริการสนามบินหัวหิน ซึ่งช่วงที่มีเส้นทางบิน ก็มีปริมาณผู้โดยสาร (Load Factor ) ในระดับที่ดีมาก
นอกจากนี้ จะมีการหารือกับสายการบินน้องใหม่'อีซี่ แอร์ไลน์' (Ezy Airlines) ซึ่งมีเครื่องบินขนาด 12 ที่นั่งบริการ ที่แสดงความสนใจที่จะทำการบินเส้นทางหาดใหญ่ - เบตง และ หัวหิน-สุราษฏร์ธานี ว่าจะสามารถทำการบินได้อย่างไร เมื่อใด
สำหรับ การเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศที่สนามบินหัวหิน ขณะนี้ ต้องรอให้กพอ.ตรวจสอบ พิจารณาเพื่อออกใบรับรองดำเนินงานสนามบินสาธารณะและการประกาศให้เป็นท่าอากาศยานนานาชาติก่อน เพื่อรองรับ International flightsซึ่ง กรมท่าอากาศยานได้ทำการจัดทำแผนแก้ไขข้อบกพร่อง (CAP) และได้ดำเนินการศึกษาด้านการบิน (Aeronautical Study) นำส่งกพท.เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้เพื่ให้เป็นไปตามตามมาตรฐานการบิน ที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) กำหนดหลังประเทศไทยแก้ไขธงแดงเรียบร้อย