นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ค.67 อยู่ที่ระดับ 89.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 87.2 ในเดือนมิ.ย. โดยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ตามการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในประเทศกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและยา เครื่องสำอาง ขณะที่การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ทำให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น และส่งผลดีต่ออุตสาหกรรม โดยเฉพาะวัสดุก่อสร้าง
ขณะเดียวกัน การขอรับการส่งเสริมการลงทุน ขยายตัวต่อเนื่อง ในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.67) มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 458,359 ล้านบาท ขยายตัว 35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศช่วง Low Season ของภาครัฐ
อย่างไรก็ดี ในเดือนก.ค.67 ยังมีปัจจัยลบจากปัญหาหนี้ครัวเรือน และหนี้เสีย (NPL) ที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งยังกดดันการบริโภคในประเทศ เห็นได้จากยอดขายรถยนต์ในประเทศ และยอดส่งออกรถยนต์ในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ หดตัว 24.16% และ 1.85% ตามลำดับ ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลง เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศยังอ่อนแอ
ขณะเดียวกัน ในด้านการส่งออกชะลอตัวลง โดยเฉพาะสินค้าคงทนประเภทเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น อัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ขณะที่ต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มสูงขึ้น ทั้งค่าระวางเรือ และค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มต่าง ๆ (Surcharge)
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 95.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 93.4 ในเดือนมิ.ย.67 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเร่งการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 67 การขยายตัวของภาคท่องเที่ยว ซึ่งเป็นผลจากมาตรการฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตลอดจนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
แต่อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่ผู้ประกอบการห่วงกังวล ได้แก่ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ที่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของภาคการส่งออก ขณะที่ต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท/วัน
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้
1. เสนอให้รัฐบาลออกมาตรการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักร และอุปกรณ์ เพื่อลดการใช้พลังงาน รวมทั้งส่งเสริมระบบบริหารจัดการพลังงานในภาคขนส่ง
2. เสอนให้ภาครัฐออกมาตรการกำหนดดูแลให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากต่างประเทศ เพื่อป้องกันการทะลักเข้ามาของสินค้าราคาถูก และสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศ
3. เสนอให้ภาครัฐกำหนดเงื่อนไขการซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศ หรือสินค้า Made in Thailand ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อสร้างโอกาสและทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในธุรกิจของผู้ประกอบการไทย