สำนักวิจัยเศรษฐกิจ ประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/67 ก่อนที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ จะแถลงในวันที่ 19 ส.ค.นี้ โดยคาด GDP Q2/67 จะขยายตัวในระดับ 1.8-3% ดีกว่าไตรมาสแรก ซึ่งอยู่ที่ 1.5% หลังจากตัวเลขส่งออกออกมาดีกว่าที่คาดไว้ พร้อมมองเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังโตได้ดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรก แต่มองปัจจัยการเมืองเป็นปัจจัยเสี่ยงชั่วคราว
น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในไตรมาส 2/67 จะเติบโตได้ใกล้เคียง 3% หลังจากตัวเลขการส่งออกของไทยในครึ่งปีแรกออกมาดีกว่าที่คาดไว้ นอกจากนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐก็เร่งตัวขึ้นในช่วงเดือนพ.ค. และมิ.ย. หลังจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 มีผลบังคับใช้
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ยังต้องจับตา คือ การบริโภคภาคเอกชนที่อ่อนแรงลง โดยเห็นได้จากดัชนีการบริโภคของครัวเรือนมีทิศทางที่อ่อนแอลง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามต่อในช่วงครึ่งปีหลัง นอกจากนี้ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์จากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่เริ่มขยายวงกว้าง ก็เป็นอีกปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะมีผลต่อเส้นทางการเดินเรือ ทำให้สายการเดินเรือขนส่งสินค้าจากเอเชียไปฝั่งยุโรป ต้องอ้อมแหลมกู้ดโฮป จึงมีผลทำให้ค่าระวางเรือยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งมีผลต่อการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
"ตัวเลขการส่งออก ล่าสุดเราปรับจาก 2% มาอยู่ที่ 1.5% เป็นมุมมองที่ conservative แล้ว หากจะมี downside จากสงครามในตะวันออกกลาง ที่กระทบเส้นทางเดินเรือจากเอเชียไปยุโรป ก็น่าจะมีผลต่อการส่งออกช่วงปลายปีของไทย ที่เป็นช่วงไฮซีซั่น ที่อาจทำให้การส่งออกปีนี้ ลดลงไปเหลือเพียง 1% ได้ ถ้ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ต้องขึ้นกับสถานการณ์ที่ตอนนี้ยังมีความไม่แน่นอน" น.ส.ณัฐพร กล่าว กับ "อินโฟเควสท์"
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง น.ส.ณัฐพร เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตได้ดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งปัจจัยสนับสนุนหลัก น่าจะมาจากเป็นช่วงไฮซีซั่นของภาคการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากขึ้น อย่างไรก็ดี ยังคงต้องจับตาสถานการณ์กำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนแอลง และต้องติตตามว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตัวอื่นๆ ออกมาเพิ่มเติมอีกหรือไม่
ทั้งนี้ มองว่าพระเอกของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง คือ ภาคการท่องเที่ยว ที่ยังมีแนวโน้มการเติบโตดีจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังคงเดินทางเข้าไทยมากขึ้น ส่วนรองลงมา คือ การลงทุนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าทั้งปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ราว 2.6%
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) ประเมินว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยไตรมาส 2/2567 จะมีลักษณะคล้ายกับไตรมาสแรก คือเติบโตได้ต่ำกว่า 2% โดยคาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 1.8% ซึ่งนอกจากเศรษฐกิจไทยจะโตต่ำแล้ว รายได้ยังกระจุกอยู่เฉพาะในภาคบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว
ขณะที่ภาคเกษตรเริ่มฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนภาคการผลิตกลับหดตัว และน่าเป็นห่วง ภาคครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่าย ส่วนภาคเอกชนยังชะลอการลงทุน โดยเฉพาะภาคก่อสร้าง
ทั้งนี้ สำนักวิจัย CIMBT คงคาดการณ์การขยายตัวของ GDP สำหรับปี 2567 ทั้งปีไว้ที่ 2.3% และให้แนวโน้มสำหรับปี 2568 ที่ดูมีความหวังมากขึ้นไว้ที่ 3.2%
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง 2567 นายอมรเทพ เชื่อว่าจะขยายตัวชัดเจนขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน การลงทุน และการส่งออก ขณะที่อุปสงค์ภายในจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ทั้งนี้ เศรษฐกิจอาจเผชิญกับความเสี่ยงด้านลบจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจลดความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภค แต่เป็นปัจจัยชั่วคราว
ขณะที่ความเสี่ยงหลัก จะมาจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเลือกตั้งในหลายประเทศที่อาจเปลี่ยนขั้วการเมือง อัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับสูงลากยาว และภาคการผลิตที่อาจหดตัวต่อเนื่อง
ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจในไตรมาส 2/67 มีทิศทางขยายตัวจากไตรมาสก่อน แต่การขยายตัวยังกระจายตัวไม่ทั่วถึง โดยแรงขับเคลื่อนหลักยังมาจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ส่งผลให้กิจกรรมในภาคบริการ การจ้างงาน และการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากไตรมาสก่อน
อย่างไรก็ดี แม้ภาพรวมของเศรษฐกิจในไตรมาส 2/67 มีทิศทางขยายตัวจากไตรมาสก่อน แต่การขยายตัวยังกระจายตัวไม่ทั่วถึง โดยแรงขับเคลื่อนหลักยังมาจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ส่งผลให้กิจกรรมในภาคบริการ การจ้างงาน และการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากไตรมาสก่อน
สำหรับแนวโน้มในระยะต่อไป เศรษฐกิจไทยยังมีแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวเป็นสำคัญ เนื่องจากรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดี และการเบิกจ่ายลงทุนของภาครัฐ ที่เร่งตัวขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/67
ทั้งนี้ ธปท. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 2/67 จะขยายตัวได้ใกล้เคียง 2% ส่วนไตรมาส 3 ใกล้เคียง 3% และไตรมาส 4 ใกล้เคียง 4% ซึ่งทำให้ทั้งปี 2567 ยังคงประมาณการ GDP ไว้ที่ 2.6% โดยมองว่าเครื่องยนต์เศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะกลับมาสมดุลมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกที่เคยเป็นลบ จะเห็นกลับมาเป็นบวกได้ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน จะเริ่มมีบทบาทลดลง หลังจากที่ผ่านมา ขยายตัวค่อนข้างสูง
คาดการณ์ GDP ไตรมาส 2 และทั้งปี 67 ของแต่ละหน่วยงาน
หน่วยงาน GDP ไตรมาส 2/67 GDP ปี 67 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ใกล้เคียง 3% 2.6% ศูนย์วิจัยซีไอเอ็มบีไทย 1.8% 2.3% ธนาคารแห่งประเทศไทย ใกล้เคียง 2% 2.6% บล.คิงส์ฟอร์ด 2.1%
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เชื่อว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ไม่น่าจะมีผลกระทบประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ เพราะการท่องเที่ยวก็ยังเดินหน้าต่อไปได้ และช่วงนี้อยากให้มีการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ เพื่อจะได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง อีกทั้งสภาผู้แทนราษฎร ยังสามารถพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2568 ได้ต่อ